วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"""หลวงพ่อเปี่ยม จนทโชโต"""



หลวงพ่อเปี่ยม (เปี่ยม จนทโชโต) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ "พระครูสุเมธีวรคุณ นิบุณคีรีเขตต์ ชลประเวศ สังฆวาหะ" ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2484 ได้เลื่อนสมณเป็นพระราชาคณะ มีพระราชทินนามว่า "พระสุ เมธีวรคุณ นิบุณคีรีเขตต์ ชลประเวศสังฆปาโมกข์" ในตำแหน่งเดิมเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเกาะหลัก ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ได้ทำความเจริญให้แก่วัดเกาะหลัก คือ

1. จัดสร้างบ่อน้ำประปาคอนกรีตพร้อมด้วยจ่ายน้ำใช้ คันสูบโยกในวัด ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกของจังหวัด และได้ใช้ถึงปัจจุบัน ถังน้ำใบนี้ชื่อ "ถังน้ำธรรมโสภิต"

2. ดำเนินการก่อสร้างกุฏิพร้อมทั้งซ่อมแซมบูรณะ เช่น "กุฎีจันทร์" แบบทรงไทยปนฝรั่ง ไม้ส่วนมากเป็นไม้จันทร์ พื้นล่างเป็นถังคอนกรีตเก็บน้ำฝน "กุฏิมิตรภาพ" เป็นกุฏิรับรองแบบทรงตะวันตก "โรงเรียนบาลี โรงเรียนปริยัติธรรม" เพื่อให้ภิกษุ สามเณร และเด็กวัด ได้ศึกษาเล่าเรียน

3. ดำเนินการก่อสร้าง อุโบสถขึ้นใหม่ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย ภายนอก เป็นลายไทยรูปปั้น และรูปเขียน เป็นภาพวิจิตร ศิลป์ทั้งหลัง ลายรดน้ำ ประตูหน้าต่างได้ให้ ช่างกรมศิลปากรเป็นช่าง การควบคุม การออกแบบ หลวงพ่อเปี่ยมเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งสิ้น ช่างส่วนมากเป็นภิกษุ สามเณร ที่มีความสนใจศึกษา ช่วยจัดทำ สร้างเป็นพระอุโบสถที่สวยงามวิจิตรพิศดารของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หลวงพ่อเปี่ยม นอกจากจะเป็นนักก่อสร้างแล้ว ยังมีความรู้ความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ความสามารถทางโหราศาสตร์ ทำให้วัดเจริญรุ่งเรือง เพราะเมื่อมีผู้เคารพ นับถือเลื่อมใสหลวงพ่อมากเพียงใด ก็เป็นประโยชน์ ต่อวัดมากเพียงนั้น และประชาชนเองก็ได้ รับประโยชน์จากหลวงพ่อทางสุขภาพจิต คือ ช่วยแก้ปัญหาความข้องใจ หรือความวุ่นวายทางอารมณ์ได้เป็นอันมาก ทั้งวัดและประชาชนเป็นไปดังคำพังเพยที่ว่า "วัดจะมีคนเลื่อมใสศรัทธา สมภารเจ้าวัดต้องเป็นพระนักเทศนา หรือ พระหมอยา หรือพระโหรา หรือพระอาคมขลัง" และประชาชนคนไทยเป็นบ้าน้อย เพราะว่าหมอดูคอยทำนายคลายอารมณ์" สำหรับหลวงพ่อเปี่ยมแล้ว ท่านเป็นโหราจารย์ไม่ใช่หมอดู คือสูงกว่าหมอดู เพราะคำว่า โหรแปลว่าผู้ชำนาญทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับพยากรณ์ความแม่นยำในการพยากรณ์ของ หลวงพ่อ เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย จนเป็นที่เลื่องลือกันเกือบทั่วประเทศไทยก็ว่าได้ นอกจากนี้หลวงพ่อเปี่ยมยังเชี่ยวชาญในการ บรรจุดวงชะตาทางโหราศาสตร์ลงในพระประจำวันของ บุคคล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเจ้าของดวงชะตา การทำพิธีทางโหราศาสตร์เชื่อกันว่าถ้าทำที่อื่น จะขลังน้อยกว่าที่โบสถ์วัดเกาะหลัก เพราะที่นั่นหลวงพ่อได้สร้างเทวรูปประจำดาวนพเคราะห์ไว้ที่ลวดลายระหว่างเสา พระอุโบสถโดยรอบ และครบถ้วน การทำพิธีจึงเท่ากับอยู่ท่ามกลางทวยเทพประจำดาวนพเคราะห์ตามตำรับโดยแท้

คนที่รักใคร่นับถือหลวงพ่อเปี่ยมมิใช่เพราะ ความเป็นโหราจารย์เท่านั้น ยังเคารพศรัทธาในคุณธรรม ความดีของหลวงพ่อ ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาอารีกับบุคคลทั่วไป มีอัธยาศัยละมุนละม่อม พูดไม่มาก แต่น่าฟัง และพูดจริง ท่านมีหลักธรรม ประจำใจอยู่ 4 ข้อ คือ

1. แผ่ความเมตตาแก่ทุกคนตลอดสัตว์เดรัจฉาน

2. เมื่อเห็นใครได้รับความทุกข์อยากช่วยให้พ้นทุกข์ เท่าที่สามารถจะช่วยได้

3. รักความยุติธรรม

4. มีความเฉียบขาดในเรื่องที่ควรเฉียบขาด

และหลวงพ่อมีหลักธรรมในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จอีก 4 ข้อ คือ

1. จงทำใจให้รักใคร่ในงานที่ทำ

2. จงพยายามพากเพียรบากบั่นให้กล้าแข็ง

3. จงใช้ความดำริตริตรอง พินิจพิจารณาในการทำงาน พอนึกก็ให้มองเห็น

4. อย่าย่อท้อต่ออุปสรรคซึ่งมาปรากฎอยู่เฉพาะหน้า

หลวงพ่อเป็นผู้มีคติธรรม ที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคติธรรมเหล่านี้ ท่านจารึกไว้ที่กำแพงด้านในด้านนอกพระอุโบสถวัดเกาะหลัก เช่น

"คนเราอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้แต่วันเดียว หรือได้รับข้าวรับน้ำในเรือนผู้ใดบริโภค ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้แต่ใจคิด"

"จะรับใช้ในกิจการเขาอย่าเบาคิด เมื่อรับกิจแล้วต้องจำทำให้ได้ ถ้าควรรับแล้วต้องรับให้ฉับไว ถ้าขัดข้องต้องปราศรัย ให้ดีเอย"

"อันกิริยาวาจาอัชฌาสัย แม้ตั้งใจทำให้ดีไม่มีเฉา ประชาชนพลพรรคย่อมรักเรา ไม่เป่าเสกสั่งยังขลังเอย"

"ระวัง ในอย่านำออกนอกอย่านำเข้า ระวังไส้อย่าสาวให้กา ระวังบังบังจนลับ ระวังจับจับอย่าคลาย ระวังคั้นคั้นให้ตาย ระวังหมายหมายแน่นอน"

"วิญญูชนมีเชาวน์เข้าใกล้ปราชญ์ ครู่เดียวอาจรู้ธรรมข้ามสงสัย ด้วยน้อมรับสดับบทกำหนดนับ เหมือนสิ้นได้รสแกงก็แจ้งจริง"

หลวงพ่อเปี่ยมถึงแก่มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2492 ด้วยโรคลำไส้พิการ ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูรของบรรดาศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือเป็นอันมาก ทุกๆ ปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 จะมีงานปิดทองรูปหล่อหลวงพ่อเปี่ยม และหลวงพ่อรูปอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว ณ วิหารในวัดเกาะหลัก



ข้อมูลอ้างอิงจาก : bp.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น