หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ( พระครูถาวรวิริยคุณ ) เดิมท่านชื่อ คง โยมบิดาชื่อ นายคุ่ม โยมมารดาชื่อนางแม้น ในสกุล แก่นไม้อ่อน เกิดที่บ้านบางพลับน้อย ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน คือ ๑.นายคลิ้ม แก่นไม้อ่อน ( ถึงแก่กรรม ) ๒. พระครูถาวรวิริยคุณ (คงแก่นไม้อ่อน ) ๓. นางสาคร (ถึงแก่กรรม ) ๔. นางอัมพร แก่นไม้น้อย ( ถึงแก่กรรม ) ในปัจจุบันเหลือหลวงพ่อคงเพียงองค์เดียว นอกจากนั้นได้ถึงแก่กรรมหมดแล้วเมื่อหลวงพ่อคงเกิดได้ ๖ ปี ทางครอบครัวก็ได้ย้ายจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี เพราะเป็นถิ่นฐานเดิมของโยมพ่อ โดยมาอยู่กับย่าพลอย ซึ่งเป็นแม่แท้ๆของโยมพ่อ คือนายคุ่ม แก่นไม่อ่อนให้ความดูแลอบรมพร้อม ทั้งให้การศึกษาด้วยหลังย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีแล้วท่านก็ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศโรงเรียนนี้จะอยู่ใกล้ ๆ กับ วัดชีประชาอินทร์ อ.เมือง จ.เพชรบุรีเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ได้๒ปีก็ต้องย้ายออกเนื่องด้วยโยมอาเขยซึ่งเป็นสามีอาผู้หญิงของหลวงพ่อคงนั้นพร้อมกับย่าต้องย้ายไปรับราชการที่จังหวัดภูเก็ต อาเขยผู้นี้รับราชการเป็นนายตำรวจมียศและตำแหน่งเป็นนายพันตำรวจตรี ผู้บังคับกองเมือง จ.เพชรบุรี โยมย่าพลอยจึงได้ส่งไปอยู่กับพระที่วัดปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งพระองค์ความคุ้นเคยรู้จักกับโยมพลอยเป็นอย่างดี หลวงพ่อได้อยู่กับพระอาจารย์ที่วัดปากท่ออยู่ ๓ ปี พร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วยต่อมาอีกไม่นานโยมย่าของท่านได้มารับไปอยู่ที่ภูเก็ตอยู่ในความอุปการะของย่าพลอยตามเดิม แต่อยู่ได้ไม่นานร่มโพธิ์ร่มไทรไทยก็ได้ล้มลง คือคุณย่าพลอย แก่นไม้อ่อน ถึงแก่กรรมลงด้วยอหิวาตกโรค ทำให้ชีวิตของหลวงพ่อในวัยเด็กต้องเคว้งคว้าง ไร้จุดหมายปลายทางของชีวิตเมื่อความทราบถึงปู่ที่บ้านกุ่ม เพชรบุรี ว่าหลานประสบกับความลำบาก จึงได้ลงไปภูเก็ต และรับมาอยู่ในความดูแลของท่านที่บ้านปากคลองกุ่ม ช่วยปู่ทำนา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมมาของปู่ ในขณะนั้นหลวงพ่อคงมีอายุได้ประมาณ ๑๓-๑๔ ปี แล้วช่วยปู่ทำนาอยู่ ๒ ปี หลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปอยู่ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยปู่นำท่านไปฝากกับครูใหญ่โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุง (ไสค้าน) ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ครูใหญ่ท่านนี้ได้ ทำธุระในการศึกษาให้ โดยให้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุงแห่งนี้ จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔
หลังจากที่หลวงพ่อคงได้เรียนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว ในขณะที่เริ่มเป็นหนุ่มรุ่นกระทงมีร่างกายแข็งแรง จึงได้อยู่ช่วยปู่ทำนา จนอายุครบ ๒๑ ปี ปู่เห็นว่าอายุก็บรรลุถึงการอุปสมบทได้แล้วสมควร ที่เข้าหารสพระธรรมได้แล้ว นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาขัดเกลาจิตใจให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นชายได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว
คุณปู่ได้นำนายคง แก่นไม้อ่อน (ในปัจจุบันพระครูถาวรวิริยคุณ) ไปเข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดราษฎร์บำรุง(ไสค้าน)
ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ...โดยฝากให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของหลวงตาเสริม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส พิธีอุปสมบทในครั้งนี้ของนายคง แก่นไม้อ่อน ได้มีพระครูสุนทรธรรมวงศ์ (เดชา) สนฺทโร เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่พระคง แก่นไม้อ่อน ได้บวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักเรียนแห่งนี้ จงกระทั่งเข้าสอบธรรมสนามหลวง ได้นักธรรมชั้นตรี อันเป็นนวกภูมิ ต่อมาได้เรียนและศึกษาพระธรรมวินัยพุทธประวัติเรียงความแก้กระทู้ธรรมจนมีความรู้ว่าจะสอบได้ ท่านจึงสมัครเข้าสอบนักธรรมชั้นโท ในภาคสนามหลวง และผลปรากฏว่าท่านสอบได้นักธรรมชั้นโท อันเป็นมัชฉิมภูมิของนักธรรมด้านปริยัติ แต่ด้วยบุญกุศลที่ทำมาน้อยในเพศสมณะหรือย่างไรไม่ทราบได้ท่านเกิด นิพพิทาความเบื่อหน่ายในเพศบรรพชิต จึงได้ไปกราบลาพระอุปัชฌาย์กรรมวาจาจารย์ และหลวงตาเสริมผู้อุปการะมาแต่ต้น ขอลาสิกขาออกไปเป็นเพศฆราวาส ครองความเป็น “ คิหิภาวะ” ตามหน้าที่ของผู้ครองเรือน ต่อมาท่านได้ไปพบกับสาวสวยที่ต้องตาต้องใจกัน จึงได้สู่ขอตบแต่งมาเป็นภรรยา ...จนมีบุตรด้วยกัน ๓ คน (ปัจจุบันมีชีวิตอยู่ ๒คน)ชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ถึงพร้อมบริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว ได้รับรู้รสของชีวิตแล้วที่คลุกเคล้ากันตามกฎแห่งอนิจจัง ดุจเดียวกับครั้งที่พระพุทธองค์ยังครองชีวิตเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่ครองชีวิตจนมีพระโอรสคือพระราหุลกุมาร ที่ทรงประสูติแต่นางยโสธราพิมพา ผู้เป็นเอกอัครมเหสี จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายในโลกิยสุขทั้งปวงคิดออกแสวงหาโมกขธรรมคือพระนิพพานเป็นที่หวังในเบื้องหน้า
นายคง แก่นไม้อ่อน ก็ได้รับประสบการณ์ชีวิตแห่งความเป็นผู้ครองเรือนโดยพร้อมแล้วไม่ว่าจะเป็นภรรยาและบุตร ท่านก็ได้มอบทรัพย์สมบัติเท่าที่มีให้กับภรรยาและบุตรทั้ง ๓ คนให้ดูแลรักษากันต่อไป ตัวท่านเองจะหันหน้าเข้าหารสพระธรรมร่มของพระศาสนาเพื่อบำเพ็ญวัตรปฎิบัติของผู้ถือพรหมจรรย์ต่อไป ทางภรรยาและบุตรก็อนุญาตให้ตามที่ท่านปรารถนา
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือภาคชีวิตตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงความเป็นหนุ่มได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในครั้งแรกอยู่ ๒ พรรษา แล้วลาสิกขาออกไปมีครอบครัวอยู่ ๒๐ ปี จึงได้ กลับมาอุปสมบทใหม่เป็นทุติยบรรพชาอุปสมบทครั้งที่ ๒ ซึ่งจะได้พรรณนาภาคชีวิตของท่านต่อไป
นายคง แก่นไม้อ่อน เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ จ.ศ.๑๒๘๕ ร.ศ.๑๔๒ ปีกุน เบญจศกเป็นอธิกมาส ปกติวาร อธิกสุรทิน ได้อุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๔๑ ปี ณ พัทธสีมาวัดตำหรุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยมีพระครูญาณประยุติ (หลวงพ่อเรียน หรือหลวงพ่อแก่ที่คนทั่วไปใช้เรียกกัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูใบฎีกาสมบุญ วัดตำหรุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในปีพ.ศ.๒๕๐๗ ได้รับฉายาว่า ฐิตวิริโย แปลว่า “ผู้มีความเพียรเป็นที่ตั้ง” หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว พระภิกษุคงก็ได้อยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์วัตรและอาจาริยวัตร พร้อมกับได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อจากที่ท่านเคยบวชในครั้งแรก พระภิกษุได้อยู่ที่วัดตำหรุ
อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรีนี้ อยู่ ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษารับกฐิน และสอบธรรมสนามหลวงแล้ว พระภิกษุคง ฐิตวิริโย ได้เข้าไปเรียนศึกษาทางด้านพระอภิธรรมที่วิทยาจิตภาวัน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพกิตติวรคุณ (กิตฺติ วุฑฺโฒ ภิกฺขุ) เป็นประธานในการศึกษาครั้งนี้ การศึกษาพระอภิธรรมในครั้งนี้เป็นการศึกษาทางด้านจิต ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำไปเทศนาสั่งสอนให้กับพุทธมารดาในชั้นดาวดึงส์เทวโลกเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พระอภิธรรม”เมื่อหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ได้เรียนรู้วิชาการทางจิตแล้ว
เจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ และสังฆานุสติ เป็นอารมณ์ในการท่องธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ตั้งแต่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี จนกระทั่งมาถึงเพชรบุรี อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเอง เมื่อเดินทางมาถึง ต.แก่งกระจานได้ปักกลดตรงบริเวณป่าไผ่บริเวณที่เป็นวัดอยู่ในเวลานั้นในเวลากลางคืน ได้นั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่ภายในกลด จนถึงเวลาเที่ยงคืน ได้เวลาจำวัดในคืนนี้มาฝันไปว่าตัวท่านเองได้เดินแบกกลดไปในป่าถึงบริเวณแม่น้ำแห่งหนึ่งมีช้างเดินตามท่านมาด้วย ๓ เชือก ในความฝันท่านเดิน
ข้ามแม่น้ำที่ลึกนั้นไปโดยไม่จม พร้อมกันนั้นช้างทั้ง ๓ เชือก นั้นก็เดินข้ามมาด้วย โดยไม่จมเช่นกัน จนกระทั้งตกใจตื่น ท่านได้นั่งคิดตรึกตรองถึงความฝันนั้นอยู่หลายวันก็แก่ไม่ตกไม่รู้ว่าความฝันนั้นหมายถึงอะไร จนกระทั่งหลวงพ่อคงเดินทางไปกราบเรียนอุปัชฌาย์ของท่าน คือ พระครูญาณประยุต
( หลวงพ่อเรียน ) เมื่อหลวงพ่อเรียนได้รับการเล่าจากหลวงพ่อคงแล้ว ท่านก็ทำนายความฝันนั้นให้ว่า “คุณคง คุณจะทำป่าตรงนั้นให้เป็นวัดขึ้นได้ในอนาคต แม้จะยากแสนยากอย่างไรก็จะประสบผลสำเร็จดุจดังที่คุณได้ข้ามแม่น้ำนั้นมาได้โดยปราศจากอุปสรรคใด ๆ ส่วนช้างที่ข้ามมาด้วยนั้นคือบริวารผู้ที่จะให้การสนับสนุนให้สำเร็จ” หลวงพ่อคงก็ได้กราบพระอุปัชฌาย์แล้วกล่าวคำว่า “สาธุ” รับเอาคำพรที่พระอุปัชฌาย์ทำนายไว้ตลอดมาเองไว้ในใจจนกระทั่งหลวงพ่อคงท่านได้ลงมือสร้าง สำนักสงฆ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อมาหลวงพ่อคงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๕ และได้รับการประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยกรมการศาสนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ พร้อมกันนั้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รอยู่แต่การจัดงานฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาเท่านั้น
นับว่าคำพยากรณ์ของพระอุปัชฌาย์ของท่านคือ พระครูญาณประยุต (หลวงพ่อเรียน) ทำนายไว้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำโดยที่หลวงพ่อเรียนได้ทำนายความฝันของพระภิกษุคง ฐิตวิริโย เอาไว้เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อครั้งที่นำไปเล่าความฝันนั้นให้พระอุปัชฌาย์ของท่านฟัง พระครูญาณประยุตได้ทำนายว่า...”คุณคง คุณจะทำป่าตรงนั้นให้เป็นวัดขึ้นได้ในอนาคตแม้จะยากแสนยากอย่างไรก็จะประสบผลสำเร็จดุจดังที่คุณได้ข้ามแม่น้ำด้วยการเดินบนผิวน้ำได้โดยไม่จมและไม่มีอุปสรรคใดๆ ส่วนช้างที่ข้ามมาด้วยนั้นคือบริวารที่จะให้การสนับสนุนจนสำเร็จ”
จากการที่หลวงพ่อคง ฐิตวิริโยเป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะในการทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยดีตลอดมาท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งฐานาของท่านเจ้าคุณเทพฯ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ที่พระครูสังฆรักษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ “ พระครูถาวรวิริยคุณ” จากชั้นโทเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกในชื่อพระราชทินนามเดิม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่กุลบุตรผู้ที่เข้ามาขอบวชในบวรพระ พุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดยพระครูวิจักษวัชรธรรม เจ้าคณะตำบลวังจันต์
อนุโมทนาการเอื้อเฟื้อข้อมูลจากคุณสมบัติ กลั่นเกลา ศิษย์หลวงพ่อวัดเขากลิ้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น