วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
"""หลวงพ่อแถม สีลสังวโร""""
หลวงพ่อแถม เกจิอาจารย์ขลังสืบสายพุทธาคม หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีเกียรติคุณกว้างไกลไร้พรมแดนของเมืองเพชรอีกรูปหนึ่งในขณะนี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในสายมหานิกายที่พูดน้อย ไม่ค่อยถนัดในเรื่องคุย แต่เข้มขลังในอาคม โดยเฉพาะ ตะกรุด ของท่านนั้นถือว่าเป็นมหาอำนาจในทางอยู่ยงคงกระพันเป็นเลิศอีกรูปหนึ่งในยามนี้ ในอดีตคนเพชรถือว่าเป็นคู่แข่งรูปสำคัญกับ หลวงพ่อตัด วัดชายนา เพียงแต่หลวงพ่อตัดนั้นท่านเป็นสายพระธรรมยุติ ส่วน หลวงพ่อแถม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในสายพระมหานิกาย พระอาจารย์ทั้งสองรูปนี้เป็นสหธรรมิกกันมาช้านานไปมาหาสู่กันบ่อยๆ ตะกรุดของท่านนั้นเป็นเลิศในทางคงกระพันชาตรี หนังเหนียวชนิดยิงไม่ออก แทงไม่เข้า ตามที่เขาเล่าลือกันมาจากปากสู่หู
แต่ถ้าใครสอบถามท่านเรื่องนี้ท่านจะกล่าวว่า หารู้ไม่หรอกเป็นเรื่องของเด็กๆ เขาประสบกันมา อาตมาหารู้ไม่ เป็นสำเนียงคนเมืองเพชร ซึ่งวัยรุ่นในย่านบ้านช้างแทงกระจาดเจอะเจอประสบการณ์ดังกล่าวมาหลายราย จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังติดทำเนียบอันดับพระเกจิอาจารย์ดัง พระอาจารย์เข้มขลังเวทมนต์แดนคนดุ เมืองเพชรในปัจจุบัน มิใช่เฉพาะชาวบ้านธรรมดาตาดำๆ แม้แต่เจ้านายชั้นสูงก็เคารพศรัทธาหลวงพ่อแถม
การเดินทางสู่วัดช้างแทงกระจาดให้ใช้เส้นทางบายพาส หรือถนนเส้นนอกที่จะไปหัวหิน เมื่อผ่านสี่แยกหุบกะพงแล้วให้สังเกตทางสี่แยกที่ 3 วัดอยู่ก่อนถึงวัดห้วยมงคล เมื่อขับรถไปถึงสี่แยกบ้านช้างแทงกระจาดอยู่ทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณสักกิโลเศษๆ ก็ถึง จะสังเกตเห็นรูปช้างขนาดเท่าตัวจริงแทงกระจาดติดงายืนอยู่หน้าซุ้มประตูเข้าวัด ให้ขับรถเลี้ยวขวามือเข้าไปจะมีลานจอดรถอยู่ตรงข้ามณฑปบูรพาจารย์ อันประกอบด้วย รูปหล่อหลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร เมื่อเข้ากราบรูปเหมือน หลวงปู่จันทร์ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง ส่วนสองอดีตพระเกจิอาจารย์นามกระเดื่องดัง
กล่าวอาจจะมีผู้มีจิตศรัทธานำมาไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วจึงเข้านมัสการ หลวงพ่อแถม ในลำดับต่อไป การบันทึกประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆ ก่อนจะถึงเรื่องประสบการณ์อภินิหารต่างๆ ต้องมีอัตประวัติเพื่อเป็นแนวทางจะได้รู้ว่าท่านนั้นเป็นใครมาจากไหนนั่นเอง เพื่อยกขึ้นไว้เป็นบุคคลผู้มีบุญญานุภาพ และเป็นที่เคารพกราบไหวของบุคคลโดยทั่วไป ด้วยบุญกุศลที่สร้างมาในภพในชาติต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันชาตินั่นเอง
ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์บุญญานุภาพของท่านที่ปฏิบัติมาโดยตลอด หลวงพ่อแถม ท่านจึงนั่งอยู่ในความศรัทธาของญาติโยมมาตลอด ทั้งจากถิ่นใกล้แดนไกลทั่วราชอาณาจักรแห่งประเทศไทย และมีบุคคลผู้ศรัทธาพระพุทธศาสนาต่างบ้านต่างเมืองยังมากราบนมัสการ การสนทนาคนละสำเนียงบอกถึงเสียงคนละภาษานั้น หากมีผู้รู้คอยอธิบายให้สื่อสารกันรู้ทั้งสอฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากมีคนพูดให้เข้าใจและแปลให้ฟัง ทุกคนร้อง ฮ้อ ด้วยความพึงใจ
ชีวประวัติ
หลวงพ่อแถม นามเดิมท่านคือ ถาวร นามสกุล หนูสิงห์ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2485 บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน ท่านเป็นลูกคนที่ 3 ของครอบครัว นายถม-นางมอม หนูสิงห์
บรรพชา
พ.ศ.2499 อายุ 14 ปี ได้บวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่วัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยมี พระครูขันตยารักษ์ (หลวงพ่อป่อง) เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งหลวงพ่อป่องนั้นในอดีตถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์นามกระฉ่อนที่มีผู้เคารพศรัทธามากรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ได้ศึกษาหนังสือขอมจาก โยมตาพรหม ของท่านและ หลวงพ่อป่อง จนมีความชำนาญสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี บวชอยู่ 3 พรรษา สิ้นวาสนาหมดบารมีในการบวช ขอลาสิกขาบทออกมาช่วยพ่อ-แม่ประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง แต่ว่าท่านเกิดมาเพื่อบำรุงพระศาสนาโดยแท้จึงต้องกลับเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่งและเป็นแบบถาวร มอบกายถวายชีวิตเพื่อปฏิบัติของพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาโดยแท้ จึงกลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง
อภินิหารแห่งพุทธคุณ
หลวงพ่อแถม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เมืองเพชร ที่นั่งในใจของชาวบ้าน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีจริยวัตรอันงดงามสงบเสงี่ยมอยู่ในศีลสังวรเมตตากับญาติโยมทุกคนที่เดินทางไปกราบไหว้ท่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยที่คนเพชรตลอดจนผู้คนทั่วประเทศจะรู้จักท่านแต่ท่านเป็นผู้สมถะ ท่านจึงเป็นเนื้อบุญที่พุทธศาสนิกชนจะหว่านกุศลลงไว้ในทาง พระพุทธศาสนาโดยมีหลวงพ่อแถม ท่านเป็นสะพานบุญที่ทอดรองรับให้บรรดาสัตบุรุษทั้งปวงเดินข้ามสะพานบุญแห่งนี้ไปสู่สรวงสวรรค์ เมื่อชีพลับดับหายไปจากโลกมนุษย์ โดยอาศัยบุญกุศลหรืออาศัยบารมีหลวงพ่อแถมเป็นสื่อต่อเชื่อมระหว่างเมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์ในอนาคตกาล หลวงพ่อแถมท่านเป็นผู้ใฝ่สันโดษคือในทุกปีของเดือน 3 ท่าน จะออกเดินธุดงคเข้าป่าทำจิตให้สงบฝึกสมาธิให้แก่กล้า แม้ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีป่าแล้วก็ตามท่านก็ยังออกวิเวกทุกปี
ประสบการณ์ในการออกธุดงค์ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านไปปักกลดในป่าแถวน้ำตกป่าละอู นั่งเจริญกรรมฐานจนจิตสงบดีแล้ว รู้สึกว่าจิตมันโล่งโปร่งดีแล้วจึงถอนจิตออกมาและจำวัด จนค่อนฟ้าสางไก่ป่าโก่งคอขันระงมไพร ท่านจึงลุกขึ้นมานั่งพิจารณาหรือทำกรรมฐานอีกจนรุ่งเช้าสวดมนต์ทำวัตรเช้าอุทิศส่วนกุศลที่บังเกิดขึ้น ในการเจริญวิปัสสนา ครั้งนี้ให้เพื่อนร่วมโลก เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนสัมภเวสีที่ล่องลอยอยู่ในป่าเขา เทวดาพระภูมิเจ้าที่ แม่ธรณีเป็นที่ตั้ง
เมื่อกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลเสร็จสรรพจึงออกมาจากกลด ท่านว่าเห็นรอยเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่สามารถกินคนหรือวัวควายตัวใหญ่ๆ ได้สบาย มานั่งเฝ้าท่านข้างกลดห่างกันไม่ถึง 2 วา ท่านเล่าว่าเสือมานั่งอยู่เมื่อไหร่ และเขากลับไปตอนไหนท่านไม่รู้เห็นแต่รอยเท้าที่เป็นรอยเดินและรอยที่เขามานั่งหมอบเฝ้าข้างกลดเท่านั้น จึงพิจารณาพื้นที่ละเอียดอีกครั้ง ท่านเล่าว่าเพราะท่านไปปักกลดขวางทางเสือลงกินน้ำ เขาจึงนั่งเฝ้ากลดทั้งคืน ซึ่งท่านเองก็คิดเหมือนกันว่า ทำไมราตรีนี้จึงเงียบสนิทผิดปกติทั้งราวไพร จักจั่น เรไร สัตว์ป่าจตุบท ทวิบาทเงียบสนิท ไม่มีเสียงหรีดร้องแม้แต่น้อย คงมีแต่ต้นและใบไม้โยกไหวเป็น
ครั้งคราวตามแรงลมที่พัดผ่านมาเท่านั้น ศิษย์หลวงพ่อแถมคนหนึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่ที่อำเภอชะอำ เอากระบุงซ้อนๆ กันไว้ที่ใต้ถุนบ้าน เช้าตรู่วันหนึ่งจะนำกระบุงดังกล่าวออกไปขนข้าวเปลือก จึงรั้งออกมาทีละลูกแต่ว่ามีอยู่ลูกหนึ่งเมื่อใช้มือรั้งออกมา เหมือนมีอะไรพุ่งตรงชนที่แขนขวาอย่างแรง ตามออกมาด้วยน้ำสีเหลืองเหนียวๆ ติดแขนเต็มไปหมด จึงหันตามมองไปกับสิ่งที่เห็นผ่านตาอยู่แวบๆเล่นเอาใจหายวูบ เพราะเป็นงูเห่าที่พุ่งฉกกัดมาที่แขนเมื่อสักกะเดี๋ยวนั้นเอง ลงไปแผ่แม่เบี้ยกำลังลดหัวลงเพื่อจะหนีไป ด้วยความตกใจและประกอบกับในความคิดนั้นว่าที่งูฉกเมื่อสวนออกมาคงจมเขี้ยวเล่นเอาใจเสีย แปลกแต่ว่าเมื่อสำรวจดูแล้วไม่มีรอยกัดของงู มีแต่น้ำพิษที่ติดผิวหนังอยู่จำนวนมาก แต่ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวของศิษย์หลวงพ่อแถมท่านนั้นไม่มีอะไรติดตัวเลย นอกจาก ?สายข้อมือไหม 7 สี เส้นเดียว?
ฉายา หลวงพ่อยางตัน หลวงพ่อแถมท่านเมตตาเล่าต่อผู้เขียนว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเอารถไปขนไม้ที่ทุ่งญวน ถ้าผู้เขียนจำไม่สับสนก็อยู่ห่างจากวัดช้างแทงกระจาดไปประมาณ 8 กิโลเมตร ยางรถเกิดระเบิดขึ้นมาไม้ก็อยู่เต็มรถแล้วหมดหนทางที่แก้ไข จึงบอกคนขับว่าออกรถเถอะ ด้วยเหตุอันใดอย่าไปสนใจเลยเอาเป็นว่าคนขับรถนั้นก็ว่าง่ายออกรถมาจนถึงที่หมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ มีโยมที่ชะอำท่านหนึ่งผู้เขียนลืมชื่อไป หากเจอหลวงพ่อแถมที่ไหน จะเรียกหลวงพ่อยางตันมาแล้ว ติดปากมาตลอด
ถ่ายรูปไม่ติด
มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคณะผู้ศรัทธาพาท่านไปเที่ยวนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว เมื่อไปถึงจังหวัดหนองคายต้องถ่ายรูปทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว มีลูกศิษย์มานิมนต์ท่านไปถ่ายรูปท่านถามว่าถ่ายรูปอะไร ลูกศิษย์บอกว่าถ่ายรูปทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว ท่านพูดเล่นกับศิษย์ท่านว่า ?ระวังจะถ่ายไม่ติดนะ? แล้วท่านเดินตามศิษย์ผู้นั้นไปถ่ายรูปตรงด่านผ่านแดนหนองคาย สักพักหนึ่งลูกศิษย์ท่านมาบอกว่าให้หลวงพ่อแถมไปถ่ายรูปใหม่ เพราะถ่ายไม่ติด ในขณะนั้นท่านรู้สึกปวดหัวและปวดเมื่อยตามตัว จึงขออยู่ในฝั่งไทยรอญาติโยมที่หนองคาย
สำหรับผู้ศรัทธาในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเกจิอาจารย์ ผู้เขียนแนะนำเชื่อว่าท่านจะไม่ผิดหวัง หากว่าท่านผู้อ่านศรัทธาตามบทความที่กล่าวถึง เพชรบุรีจากกรุงเทพฯใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงแล้วเป็นการพิสูจน์ว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นไม่เท่ามือคลำ และด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามต่อญาติโยมทุกคน เชื่อว่าท่านผู้อ่านไปแล้วไม่ไปลับเพียงครั้งเดียว ครั้ง 2-3 จะตามมา เพราะหลวงพ่อแถมท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ควรค่าต่อการกราบไหว้ เพราะท่านเป็นพระปฏิบัติเรียบง่ายอยู่อย่างสมถะ นั่งในห้องของท่านต้อนรับญาติโยม เข้าใจว่าน่าจะจำวัดตรงนั้นที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาด้านหลังที่นั่งของท่านนั่นเอง
(ที่มา : ย่อจาก ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1053 เดือนสิงหาคม 2553 : หลวงพ่อถาวร (แถม) สีลสังวโร วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ภาพและเรื่องโดย..เมฆ เมืองชุมพร)
ป้ายกำกับ:
หลวงพ่อแถม สีลสังวโร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น