วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

""หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต""


ท่านมีนามเดิมว่า อินทร์ พรหมโลก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ
ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2429 เป็นบุตรของ นายพรหม-นางนวม พรหมโลก
มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นคนที่ 7 เกิดที่บ้านไร่คา ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 14 ปี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2442
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2524 เวลา 21.15 น. ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ
รวมสิริอายุ 95 ปี 74 พรรษา ประวัติพระเทพวงศาจารย์ (อินทร์)

พระเทพวงศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดยาง และเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี นามเดิม “ อินทร์” ฉายา “อินทโชโต” สุกล พรมโลก บิดาชื่อพรหม มารดาชื่อนวม ถิ่นกำเนิด บ้านไร่คา ตำบลลาดโพธิ์

อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ถือกำเนิดเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2429 ถึงแก่มรณภาพอายุได้ 95 ปี ถ้านับเวลาตั้งแต่บรรพชาและอุปสมบทรวมกันก็จะได้ 82 ปี เป็นพระมหาเถรรัตตัญญูอันหาได้ยากรูปหนึ่งของเมืองเพชรบุรี พระเดชพระคุณท่านพระเทพวงศาจารย์ สถิต ณ วัดยาง ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นอธิบดีสงฆ์วัดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478-2524 รวมเวลา 46 ปี

พระเทพวงศาจารย์ สมัยเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง มีพลานามัยสมบูรณ์ทั้งสติและปัญญาและความคิดอ่านทันต่อเหตุการณ์ งานบริหารและปกครองคณะสงฆ์ในความรับผิดชอบของท่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น รวดเร็วและถูกต้อง แม้แต่จะเดินเหินก็คล่องแคล่วว่องไว จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีเป็นพิเศษ มีความคิดริเริ่ม มีพลังกายใจสมบูรณ์ สามารถบริหารงานและและประสานงงานทั้งฝ่ายอาณาจัรกและพุทธจักรให้ดำเนินไปด้วยดี กอปรกรณียกิจยังประโยชน์แก่ทุกฝ่ายให้ถึงพร้อมอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วย วัยวุฒิ คุณวุฒิ และมีพรหมวิหารธรรมเป็นหลัก มีปรกติวิสัยสมเป็นสมณะโดยแท้

ชีวิตในวัยเยาว์ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวงศาจารย์เป็นไปตามแบบชาวชนบท โดยบิดาซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวประกอบอาชีพทางการเกษตรและเป็นแพทย์แผนโบราณด้วยความวิริยะอุตสาหะในการประกอบอาชีพ จึงสามารถก่อร่างสร้างตัวจนเป็นหลักฐาน พระเทพวงศาจารย์มีพี่น้อง 8 คน คือ 1.นางชุ่ม ( ไม่ทราบสกุล) 2.นายศรี พรมโลก 3.นางเม้ย รวยเงิน

4.นางพงษ์ นุชประคอง 5.นายแก้ว พรหมโลก 6.นางพิมพ์ สุขโข

7.พระเทพวงศาจารย์ (อินทร์) 8.นางผาด (ไม่ทราบสกุล ) ปัจจุบันนี้ทุกคนได้ถึงแก่กรรมแล้ว

เมื่อท่านอายุได้ 3 ขวบ มารดามีน้องคนสุดท้อง ท่านได้แหยกไปอยู่กับยายอ่วม ซึ่งเป็นน้าของมารดา ยายเลี้ยงดูอย่าบุตรบุญธรรม โตขึ้นก็อยู่กับยายตลอดมา ได้ช่วยงานยายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นปั่นด้าย เป็นต้น

การศึกษาเบื้องต้น
เมื่อท่านมีอายุได้ 10 ปี ยายส่งเข้าเรียนหนังสือไทย ไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่กับพระอาจารย์เฉยที่วัดวังบัว อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เริ่มเรียนตั้งแต่ นอโม พุทธ่อ เป็นต้นไป

อาจารย์เฉยเป็นช่างเขียน ช่างปั้น ช่างแกะสลัก และช่างเงิน-ทอง ได้เรียนหนังสือบ้าง ได้ฝึกหัดทำงานช่างบ้าง โดยเฉพาะงานช่างเงิน เคยทำเสมา และลูกกระดุม เป็นต้น ทั้งยังได้รู้เห็นการเขียนภาพต่าง ๆ จากอาจารย์เฉยอีก โดยมากเป็นฉากมหาชาติ ภาพประจำคอสองศาลา และอื่น ๆ อีก ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์กุน เจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม และเจ้าอาวาสวัดพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์กุนเป็นลูกวัดอยู่วัดวังบัว อยู่กับอาจารย์เฉยราว 3 ปี อาจารย์เฉยลาสิกขาบท จึงอยู่ในการปกครองของเจ้าอธิการพลับเจ้าอาวาสวัดวังบัว นอกนี้ยังได้เรียนมูลบทกับลุงหนู ซึ่งเคยทำงานเกี่ยวกับสมุหบัญชีในกรุงเทพ ฯ เป็นครั้งคราว นักเรียนที่เรียนในสมัยท่าน ใครอยากได้ความรู้อะไรก็ต้องขวนขวายเข้าหาครูบาอาจารย์เองถ้าไม่ท้อถอยเสียก่อนก็จะมีความรู้ตามที่อาจารย์ประสิทธิ์ประมาทให้ จนมีความสามารถใช้การหรือทำงานแทนอาจารย์ได้ นับว่าจบหลักสูตรตอนหนึ่ง ตอนนี้นับว่าท่านพอมีพื้นฐานอ่านเขียนหนังสือไทยได้ โดยอ่านพระมาลัยจบ แล้วยังได้เรียนหนังสือใหญ่ (ขอม) สนธิ นาม กับอาจารย์ อ่ำ วัดวังบัว อีกด้วย วัดวังบัวสมัยโน้นเป็นสำนักเรียนใหญ่แห่งหนึ่ง มีคณาจารย์อยู่หลายท่าน และมีพระจำพรรษาปีละ 70 รูปขึ้นไปล

บรรพชา
พออายุครบ 14 ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2442 มีเจ้าอธิการพลับเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เรียนธรรมบทกับพันนาทองอยู่ 1 ปี คือ ตลอดพรรษาแรกที่บรรพชา ต่อมาเห็นว่า ถ้าจะเรียนให้มีความรู้แตกฉานกว่านี้ขึ้นไปอีก ก็ต้องไปเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริบูรณ์ด้วยอาจารย์ ท่านจึงได้เดินทางเข้าไปอยู่กับพระภิกษุฤทธิ์ ซึ่งเป็นบุตรของอา

อยู่ ณ วัดอรุณราชวราราม เรียนมูลกัจจายน์กับพระมหาฤทธิ์ (เปรียญ 4 ประโยค) และอาจารย์นวล ศึกษาอยู่ตลอดเวลา 6 ปี ต่อมาพระมหาฤทธิ์แปลบาลีในสนามหลวงได้เปรียญ 6 ประโยค และในปีนั้นเอง พระมหาฤทธิ์ก็ได้รับตราตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองเพชรบุรี ได้เดินทางมาดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วัดคงคาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีสมณศักดิ์ที่พระพิศาลสมณกิจ

ในเวลานั้นท่านก็ได้เป็นสามเณรอนุจรติดตามพระพิศาลสมณกิจผู้เป็นอาจารย์ มาอยู่ ณ วัดคงคาราม ซึ่งตรงกับเดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. 2450

อุปสมบทและการศึกษาเล่าเรียน
พอถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ท่านยก็ได้อุปสมบทเห็นพระภิกษุ ณ วัดวังบัว โดยมีพระพิศาลสมณกิจเป็นอุปัชฌาย์ท่านเป็นองค์แรก พระครูสุวรรณมุนี (ฉุย) วัดคงคาราม เป็นกรรมวาจารย์ พระครูสุชาตเมธาจารย์ (กุน) วัดพระพุทธไสยาสน์ และพระอธิการพลับ วัดวังบัว เป็นอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วได้เรียนธรรมบทและมงคลทีปนี ซึ่งอยู่ในหลักสูตรเปรียญ ประโยค 3 และ 4 กับพระพิศาลสมณกิจ และอาจารย์แจ้งวัดจันทราวาส ด้วย

ผลของการเรียน ท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะแปลหนังสืออยู่กับพระพิศาลสมณกิจนั้ยนกรมพระสมมติอมรพันธุ์และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งโยเสด็จมากับพระพุทธเจ้าหลวงครั้งแปรพระราชฐานมายังเพชรบุรี) ได้เสด็จชมวัดวาอารามต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงวัดคงคาราม ทรงได้ยินการแปลหนังสือของท่านด้วย ก็ทรงสนับสนุนให้พระพิศาลสมณกิจอาจารย์ของท่าน ให้ส่งตัวท่านไปสอบไล่ในสนามหลวง ไม่ควรจะหวงเอาตัวท่านไว้ทำงาน ทรงรับรองว่าต้องแปลได้ไม่ต่ำกว่าประโยค 5 และจะทรงช่วยเหลือให้ความสะดวกต่าง ๆ ด้วย แต่ก็มีเหตุให้ท่านไม่ได้เป็นเปัยญอยู่จนได้ เพราะในครั้งกระนั้น การสอบบาลีในสนามหลวงมิได้มีทุกปี และหลังจากเสด็จกลับคราวนัน้แล้ว ต่อมาพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปอีกกล่าวคือ พ.ศ. 2452 ได้เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ พ.ศ. 2453 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมพระพิศฯาลสมณกิจ

ทำให้ท่านมีภาระหน้าเพิ่มมากขึ้น และยังจะต้องเป็นผู้บอกหนังสือให้กับพระภิกษุ-สามเณรอีกราว 20 รูป ระหว่างเช้า-บ่าย นักเรียนรุ่นนั้นต่อมาได้เปรียญหลายรูป พ.ศ. 2456 ได้เข้าเรียนนักธรรมที่วัดเบญจมบพิตร พระนคร ซึ่งคณะนั้นเริ่มจะเริ่มมีหลักสูตรการเรียนนักธรรมกัน และสอบไล่ได้นักธรรมประโยค 1 ในสำนักนั้น ใช้เวลาศึกษาอยู่ 8 เดือน ระยะเวลารี้ได้ฝึกเทศน์มหาชาติ มีกัณฑ์ทานกัณฑ์ เป็นต้น และยังได้ฝึกเทศน์ธรรมวัดด้วย

ปฏิบัติงานและพัฒนาวัด
เมื่อกลับมาจากวัดเบญจมบพิตรแล้ว ได้สร้างหอไตรขึ้นหลังหนึ่ง จีนหงชาวบ้านปากทะเลเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ นายนิ่ม กลิ่นอุบล ผู้ทำลวดลาย ทำอยู่ 3 ปีจึงสำเร็จ ปัจจุบันหอไตรหลังนี้เก่าแก่ไปตามอายุ ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโบสถวัดคงคาราม นับได้ว่าหอไตรหลังนี้เป็นศิลปกรรมชิ้นแรกของท่าน นอกนนี้ยังได้เป็นหัวหน้าเผาอิฐ ทำกำแพงวัดคงคารามจนเสร็จเรียบร้อย พ.ศ. 2460

พรรษา 11 จึงได้ย้ายสำนักจากวัดคงคารามมาอยู่ ณ สำนักวัดยาง (วัดอยู่คนละฝั่งถนนข้าม) ติดตามพระพิศาลสมณกิจผู้เป็นอาจารย์ หลังจากนี้ต่อไป ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจอยู่ในเรื่องศิลปะการช่าง งานที่ได้ทำส่วนมากก็มีธรรมาสน์เทศน์ เมรุเผาศพ ช่อฟ้าใบระกา หอระฆัง ศาลาและโบสถ์ เป็นต้น

มีธรรมาสน์อยู่หลายหลังซึ่งเป็นฝีมือของท่าน เช่น ที่วัดบัวงาม วัดหนองควง วัดสำมะโรง วัดปากคลองแหลมผักเบี้ย วัดใหม่ตีนครุฑ วัดแก้ว เมืองสมุทรสงคราม หอระฆังก็มีที่วัดยาง วัดหนองจอก วัดชะอำ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีแปลนโบสถ์ แปลนศาลา อีกเป็นจำนวนมาก ท่านเป็นผู้มีความสามารถในการช่างโดยแท้ มีความคิดความเข้าใจหลักแหลม สามารถออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยที่ท่านก็ไม่ได้เล่าเรียนมาจากใครโดยตรง อาศัยการจดจำและการสังเกตด้วยตนเอง พร้อมทั้งได้ปฏิบัติจริง ๆ มีอะไรขัดข้องก็ไตร่ถามหรือขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้ เช่น ขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) เป็นต้น ด้วยเหตุที่ท่านมีความรู้ ความสามารถบริบูรณ์พร้อม ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2478



อาพาธและมรณภาพ
สังขารของพระเทพวงศาจารย์ ได้ตรากตรำต่อการงานและหน้าที่มาตลอดเวลาอันยาวนาน ย่อมต้องเป็นไปตามสภาวธรรม คือ แปรปรวน บุบสลาย และแตกดับไปในที่สุด ทั้งก็เหมือนกันทุกรูปทุกนาม ท่านเริ่มมีอาการคันที่ผิวหนังอย่างมาก ตอนแรกเข้าใจกันว่าเป็นการแพ้ธรรมดา แต่แพทย์ได้ตรวจรักษาและงดสิ่งสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุที่มาของอาการแพ้ อาการคันก็หาทุเลาลงไม่ ต้องเอามือเกาอยู่ตลอด ทำให้รู้สึกรำคาญและทรมานมาก ความเจ็บไข้ของท่านได้ทราบถึงสมเด็จพระสังฆราช จึงบัญชามาให้นำพระเทพวงศาจารย์เข้าตรวจรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมทั้งนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบามสม้เด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงทราบ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โปรด ฯ ให้รับไว้เป็นคนไข้ของหลวง อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แต่นั้นมา อาการของท่านหาได้ทุเลาลงไม่ โดยแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเซลล์และน้ำเลี้ยงเสื่อมสภาพไปตามอายุ ไม่สามารถสร้างหรือผลิตสิ่งใหม่ให้มีคุณภาพแทนสิ่งที่สึกหรอหรือสูญหายไป จึงแสดอาการผิดปรกติขึ้น และการที่ร่างกายต้องนอนอยู่ในอริยาบถเดียวนาน ๆ ผิวหนังจะถูกกดทับ ทำให้โลหิตไหลเวียนไม่สะดวก เป็นเหตุให้ผิวหนังส่วนนั้นบวมพองกลายเป็นแผลในที่สุด ทำให้ท่านได้รับทุกข์ทรมานอย่างน่าสงสาร ไหนจะอาการคัน ไหนจะเป็นแผลพุพอง เพิ่มความไม่สบายใจต่อทุกท่านที่ไปเยี่ยม มองเห็นสุขภาพของท่านทรุดโทรมเรี่ยวแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นเสมือนเป็นเหตุบอกว่า ปูชนียบุคคลผู้เป็นที่พึ่งทางใจและศูนย์รวมแห่งศรัทธาหาได้ยากยิ่ง และด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่าย จึงนำท่านกลับมาพักผ่อนที่วัด ภายหลังที่กลับมาจากโรงพยาบาลมาอยู่วัดยางแล้ว อาการคันและแผลพุพองบริเวณผิวหนังก็มิได้ลุเลาลง ทำให้กำลังท่านถดถอยลงทุกที ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 เวลาผ่านมา 15 วัน หลังจากกลับมาจากโรงพยาบาลเป็นเวลาที่มีความอ่อนเพลียที่สุดอย่างเห็นได้ชัด ร่างกายที่เคยเคลื่อนไหวได้บ้างก็สงบนิงไม่เปล่งเสียง ไม่แสดงอาการใด ๆ ด้วยอาการสงบ

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมห้อยลูกกระสุนดินลูกใหญ่..ลงอักขระด้วยดินสอล้อมรอบ..ท่านบอกพ่อผมว่า..ท่านจะเข้าไปในป่าช้า..แล้วเลือกเอาเฉพาะลูกกระสุนดินที่ชาวบ้านใช้ล่าสัตว์เล็ก..แล้วตกอยู่บนหลุมศพผีตายโหง(ท่านคงตรวจทราบด้วย ..ฌาน)..เอามาประจุอาคม..ผมใช้ติดตัวมาหลายสิบปีครับ

    ตอบลบ