วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"""หลวงพ่อแฉ่ง สีลปญฺโญ"""


พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) เป็นเจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ชื่อเดิมว่า แฉ่ง สำเภาเงิน เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยยุคก่อนพ.ศ. 2500 แล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ



รูปหล่อพระครูญาณสาคร
ชาติภูมิ

พระครูญาณสาคร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2422 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปี เถาะ) ที่ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรนายเฉยและนางทับ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน ดังนี้
นายอั๋น สำเภาเงิน
นางสาย เข่งทอง
นายสิน สำเภาเงิน
นายแสง สำเภาเงิน
นายแบน สำเภาเงิน
นายเบี้ยว สำเภาเงิน
พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)
นางเป้า ฟังทอง
นายใจ สำเภาเงิน
ฆราวาส

“พระครูญาณสาคร” (หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ) ได้ศึกษาหนังสือไทย ณ วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนจำต้องเรียนที่วัด) ต่อมาย้ายไปเรียนที่วัดทุ่ง (ทุ่งเฟื้อ) ตั้งอยู่คลองปลายสวนทุ่ง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จนมีความรู้ในการอ่าน เขียน ภาษาไทย และภาษาขอมได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงลาการศึกษาหนังสือจากวัดปากลัด เพื่อมาช่วยบิดามารดาทำงานช่วยเหลือครอบครัว จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี ได้กราบลาบิดา มารดา เพื่ออุปสมบท เมื่อวันอังคาร ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2442 เวลา 14.15 น. (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปี กุน) ณ พัทธสีมาวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (สมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอเขาย้อย)
บรรพชาอุปสมบท“พระอธิการคล้ำ” วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์“พระอธิการทรัพย์” วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์“พระอธิการวัตร” วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ท่านได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนา ว่า “สีลปญฺโญ” คือ ผู้ทรงศีลเป็นปัญญา
สมณศักดิ์

หลังจากที่ท่านได้เป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วนั้น ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดปากลัด 1 พรรษา ต่อมาจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดเขาตะเครา 2 พรรษา แล้วจึงไปจำพรรษาอยู่วัดปากคลอง ตำบลบางครก 5 พรรษา เพื่อศึกษาวิปัสสนามัฎฐาน จนกระทั่ง"พระอธิการเปลี่ยน" วัดอุตมิงด์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้อาราธนาให้ไปสอนอักษรขอม และจำพรรษาอยู่ที่วัดอุตมิงด์ 1 พรรษา

ท่านได้มีความคิดที่จะขอลาสิกขาจากสมณเพศ เพื่อกลับไปดูแลบิดา มารดา จึงได้ไปหา “พระครูสุวรรณมุนี” หลวงพ่อฉุย พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการลาสิกขา พระอาจารย์จึงได้ทำการสำรวจตรวจดวงชะตาท่านเพื่อดูความเหมาะสม หลังจากพระอาจารย์ตรวจดวงชะตาแล้วเห็นว่าบุญบารมียังสูงส่งจักเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาสืบไป ทำให้ท่านกลับใจคงอยู่ในสมณเพศต่อ และเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนที่ตำบลบางตะบูน ท่านได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน วงศาคณาญาติทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในบวรบพุทธศาสนา ชาวบ้านบางตะบูนทั้งผู้มีทุนทรัพย์ และผู้มีกำลังกายเข้าร่วมกัน ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ราวปลายปี พ.ศ. 2449 ที่ริมฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนมีน้ำท่วมถึงชายป่า ท่านใช้เวลาในการปรับปรุ่งพื้นที่ ถมดิน ถมทราย และก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนวัดปากอ่าว เป็นต้น ท่านใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จึงแล้วเสร็จจนกลายเป็นวัดใหญ่ถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ขนานนามว่า “วัดปากอ่าวบางตะบูน” ตำบลบางตะบูนออกอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2450

วัดปากอ่าวบางตะบูน
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2553ด้วยกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติโดยอเนกประการ ทางคณะสงฆ์มีองค์พระสังฆราชเป็นประมุข ทราบกิตติคุณในคุณานุภาพจึงรับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ดังต่อไปนี้
เมื่อวันศุกร์ ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2467 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระอุปัชฌายะ”
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูแฉ่ง” และเป็นเจ้าคณะสงฆ์แขวงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อวันพุธ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูญาณสาคร”
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ได้รับแต่งตั้งเป็น “สาธารณูปกร” อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน” ตลอดมาจนถึงมรณภาพวันศุกร์ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เวลา 18.07 น. ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา ณ กุฏิเจ้าอาวาส วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ด้วยความสงบ สิริรวมอายุได้ 84 ปี 5 เดือน กับ 25 วัน ท่านถือครองสมณเพศเป็นเวลา 64 พรรษา นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของพุทธศาสนิกชน และชาวบ้านตำบลบางตะบูน บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้ประกอบแต่กรรมดีอยู่เสมอ เมื่อเป็นฆราวาสก็เป็นบุตรที่อยู่ในโอวาทของบิดามารดา เมื่ออยู่ในสมณเพศก็เป็นผู้ที่อยู่ในระเบียบวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด การที่ท่านวางตนได้โดยสม่ำเสมอเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนชาวบ้านบางตะบูนและบริเวณใกล้เคียงเคารพเลื่อมใส และเมื่อท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอันดีงาม และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตลอดมา ทำให้ท่านเป็นที่รักของชาวบ้านเหล่านั้นมาก เมื่อท่านประสงค์สิ่งใดก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาเชื่อถือในตัวท่าน ช่วยกันสละทั้งกำลังกายและทรัพย์สิน ผลงานสำคัญที่ท่านได้กระทำไว้มากมาย และเป็นอนุสรณ์อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น