วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

""""หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม""""


อดีตเจ้าอาวาสวัดนิคมวชิราราม ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
พระเกจิอาจารย์ไสยเวทย์แก่กล้า บารมีมากล้นสูงส่ง มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส เคร่งครัดในพระธรรมวินัย บริสุทธิ์ผ่องแผ้วทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นที่ยกย่องความดีและความสามารถด้านการปกครองและการพัฒนา ทั้งด้านไสยเวทย์ สมถกรรมฐาน วิปัสนากรรมฐาน มีความเชี่ยวชาญคาถาอาคมและเวทมนต์ต่าง ๆ เป็นศิษย์ผู้ได้รับการสืบทอดไสยเวทย์พุทธาคมจากหลวงพ่อทองศุข อินฺทโชโต วัดโตนดหลวง ต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลวงพ่อนิ่ม วัดเขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สืบทอดวิชาสายหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จากพระอธิการสุทธิ วัดพระทรง จ.เพชรบุรี และหลวงพ่อเช้า วัดชะอำคีรี จ.เพชรบุรี หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม เป็นพระสุฏิปัณโณอีกรูปหนึ่งที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

ชาติภูมิ หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม มีนามเดิมว่า หวล เสือสะอาด ถือกำเนิดวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2467 ที่บ้านชะอำ ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นบุตรคนที่4 ในจำนวนพี่น้อง 7 คนด้วยกันคือ 1. นางปิ่น 2. นางเปลี่ยน 3.นางเปลื่อน 4. หลวงพ่อหวล 5. นางเหลี่ยน 6. นายสมาน 7. นางเสมียร ของโยมพ่อแฮต เสือสะอาด โยมแม่ปุ้ย เสือสะอาด จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบำรุงวิทยากรุงเทพฯ อาชีพทำนาและรับจ้าง

อุปสมบท เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดชะอำคีรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2487 โดยมี พระครูพินิจ สุตคุณ (หลวงพ่อทองศุข อินทโชโต) วัดโตนดหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสุทธิ วัดพระทรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเช้า วัดชะอำคีรี เป็นพระอนุสาวณาจารย์ หลวงพ่อหวล ได้รับฉายาทางภิกษุว่า ยติธมฺโม หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม ได้กล่าวตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำสิ่งที่ดีทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้นอุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดชะอำคีรี ศึกษาพระธรรมวินัย เรียนนักธรรม สอบได้นักธรรมเอก ศาสนศึกษา วัดชะอำคีรี ต่อมาในปีพ.ศ.2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จ.นครปฐม
การศึกษาพิเศษ พ.ศ.2492 เข้ารับการศึกษาอบรมครูวัดสามพระยา
พ.ศ.2514 สอบได้ประโยชน์ครูพิเศษมูล จ.เพชรบุรี
พ.ศ.2514 เข้ารับการศึกษาอบรมโรงเรียนพระสังฆาฏิการส่วนภูมิภาครุ่น๑ วัดยาง จ.เพชรบุรี
พ.ศ.2517 เข้ารับการศึกษาอบรมโรงเรียนพระสังฆาฏิการส่วนกลางรุ่น๒ วัดสามพระยา กทม.
พ.ศ.2537 ผ่านการอบรมหลักสูตร บทบาทพระสงฆ์ผู้นำสังคมในการชี้นำประชาชน ช่วยป้องกันไฟป่า
พ.ศ.2538 ผ่านการอบรมหลักสูตร การบริหารและการจัดการวัด
พ.ศ.2544 ผ่านการอบรมหลักสูตร การฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์
พ.ศ.2544 เป็นกรรมการ การฝึกอบรมพระนักเทศน์แม่แบบ จ.เพชรบุรี

ศึกษาพุทธาคม
หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม เพื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดชะอำคีรี ได้ศึกษาเล่าเรียนนักธรรมแล้ว หลวงพ่อหวล ได้เดินทางไปมาหาสู่หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง อยู่เสมอ ในสมัยนั้นถนนหนทางยังไม่เจริญจะเป็นทางดิน ทางเกวียน การเดินทางจากวัดชะอำคีรี ไปยังวัดโตนดหลวงจะต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง หลวงพ่อหวล จะเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน อีกทั้งไสยเวทย์ พระคาถาอาคมต่าง ๆ จากหลวงพ่อทองศุขอยู่เสมอ การเดินทางไปแต่ละครั้งจะไปพักค้างอยู่ที่วัดโตนดหลวง ครั้งละ 15 วัน หลวงพ่อหวล มีความมานะ และสนใจเวทย์มนต์คาถามาก จนสามารถได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์ต่างๆ จากหลวงพ่อทองศุข จนเชี่ยวชาญ และชำชอง ได้รับการยกย่องให้เป็นพระอาจารย์ฝึกสอนอบรมวิปัสสนากรรมฐานให้พระสงฆ์บวชใหม่มาหลายสิบปีแล้ว ในการที่หลวงพ่อหวล ไปศึกษาเรียนวิชาจากหลวงพ่อทองศุข ที่วัดโตนดหลวงนั้นได้รู้จักและสนิทสนมกับหลวงพ่อนิ่ม หลวงพ่อนิ่ม ท่านเป็นศิษย์ หลวงพ่อทองศุข พระลูกวัดจำพรรษาอยู่ประจำวัดโตนดหลวง หลวงพ่อนิ่ม เก่งและมีความสามารถด้านวิชาไสยศาสตร์มาก ต่อมาภายหลังหลวงพ่อนิ่ม ได้ถูกนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาน้อย อ.ปราณบุรี ยามใดที่หลวงพ่อทองศุข ติดภารกิจไม่ว่าง หลวงพ่อนิ่มก็จะช่วยสอนและแนะนำรายละเอียดเพิ่มเติมให้หลวงพ่อหวล จนได้รับความสนิทสนมต่อต่อกับหลวงพ่อหวลตลอดมา หลวงพ่อหวลยังได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์สายวิชาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จากพระอธิการสุทธิ วัดพระทรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์สายหลวงพ่อแก้วจากหลวงพ่อเช้า วัดชะอำคีรี หลวงพ่อเช้าท่านสนิทกับหลวงพ่อจัน วัดมฤคทายวันมาก เคยแลกเปลี่ยนวิชาไสยเวทย์พุทธาคมให้กัน หลวงพ่อจัน ก็ได้รับวิชาสายหลวงพ่อแก้ว เพราะหลวงพ่อแก้ว เคยอยู่วัดปากทะเล จ.เพชรบุรี ด้วยพระเกจิอาจารย์สายเพชรบุรี มีปรมาจารย์ไสยเวทย์ดัง ๆ อยู่หลายรูป เช่น หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ (เดิมอยู่วัดปากทะเล) หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หลวงพ่อแช่ม วัดนายาง พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมา จึงทำให้เพชรบุรีมีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสืบทอดต่อเนื่องมามิขาดสาย เช่น หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง จึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่หลวงพ่อหวล ย่อมมีวิชาไสยเวทย์ที่เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ทั้งด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม เชี่ยวชาญการปลุกเสกวัตถุมงคล และเชี่ยวชาญการทำผงพุทธคุณเช่น ผงอธิเจ ผงปทมัง ผงมหาราช ผงหน้าพระภัก และผงอิติปิโสรัตนมาลา
หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม จึงเป็นพระเกจิอาจารย์ หรือเรียกว่าเป็นสุดยอดพระเกจิในยุคปัจจุบันก็ว่าได้ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญว่าท่านเป็นพระดีพระตัวอย่างแม่แบบมีบารมีมากล้นมีเมตตาช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชาวบ้าน สร้างวัดสร้างศาสนสถาน สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาลบริจาคโลหิต น้อมนำชาวบ้านสร้างความดี เป็นพระสงฆ์ผู้มีความสามารถและความดีเป็นที่ยกย่อง จึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะในราชทินนาม “พระญาณโมลี” สำหรับงานด้านเกจิ มีความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน การนั่งปรกบรรจุพลังพุทธคุณอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ อยู่ยงคงกระพันชาตรีทั้งเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ ค้าขายและแคล้วคลาด ป้องกันภัย และขับคุณไสย หลวงพ่อได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิหลวงพ่อทองศุข เพราะฉะนั้นหลวงพ่อหวลจะถูกนิมนต์ไปนั่งปรกอธิษฐานจิตเสกวัตถุมงคลในพิธีปลุกเสกและพิธีพุทธาภิเษก แทบทุกงานที่มีก็ว่าได้
ธุดงค์วัตร
ในพรรษาที่ 4 พ.ศ.2491 หลวงพ่อหวล ยติธมฺโมได้ออกเดินธุดงค์ในครั้งนั้นได้มีพระภิกษุร่วมเดินทางไปด้วยอีก 2 รูปรวมเป็น 3 รูปด้วยกัน นำโดยหลวงพ่อนิ่ม วัดโตนดหลวง หลวงพ่อชัน วัดเขาพระรอบ และหลวงพ่อหวล ได้เดินธุดงค์จากชะอำไปสู่ปราณบุรี เขาสามร้อยยอด กุยบุรี ประจวบฯ เข้าทับสะแกที่จังหวัดชุมพรนี้ที่อำเภอฉวี คืนหนึ่งหลวงพ่อและคณะเดินทางอีก 2 รูปไปปลักกลดที่เขาถ้ำช้างเล่น มีธารน้ำไหลเล็ก ๆ ไหลผ่าน ตลอดทั้งปีเขาถ้ำช้างเล่นนี้มีถ้ำอยู่มากมายหลายสิบถ้ำ ในยามค่ำคืนมีเสียงสิงห์สาราสัตว์ หวีดร้องน่ากลัว ได้มีดวงวิญญาณสัมภเวสี ต่างๆ มาขอส่วนบุญ หลวงพ่อหวลก็ได้แผ่เมตตาไปให้แล้วก็หายไป หลวงพ่อหวล และคณะพระสงฆ์ได้เข้ากราบนมัสการพบหลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย ซึ่งก็ได้รับการอบรมแนะนำการเดินธุดงค์วัตรจากท่าน แล้วก็กราบลา เดินธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง ไปจนสุดแดนใต้แล้วก็เดินทางกลับ
วัตถุมงคล
หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม ได้สร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกออกให้บูชาในงานผูกพัทธสีมา ในปีพ.ศ.2513 เป็นพระกริ่งแบบหล่อฉีดเรียกพระกริ่งวัชระ สร้าง 2 เนื้อ เนื้อนวะ จำนวน 1,250 องค์และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 5,000 องค์ปัจจุบันเนื้อนวะได้รับความนิยมเล่นหากันราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท เนื้อทองแดงรมดำ ราคาเล่นหาประมาณ 1,500 บาท และต่อมาในปีพ.ศ.2539 ได้ออกเหรียญรูปไข่รุ่น๑ ขึ้นเป็นแบบห่มคลุมสร้าง 3 เนื้อ เนื้อทองคำ จำนวน 100 เหรียญ เนื้อเงิน จำนวน 100 เหรียญ เนื้อทองแดง จำนวน 10,000 เหรียญ สำหรับเนื้อทองคำและเงินได้ถูกจัดบรรจุในกล่องจัดเป็นชุดใน 1 ชุด มีเหรียญรุ่น๑ 3 เนื้อ ในพ.ศ.2542 ได้สร้างวัตถุมงคลแจกพุทธศาสนิกชนและศิษย์ยานุศิษย์เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณพระราชาคณะสามัญได้รับพระราชทินนามว่าที่ “พระญาณโมลี”วัตถุมงคลที่สร้างในการครั้งนั้นมีจำนวน 3 อย่างด้วยกันคือ 1. เหรียญรุ่น๒ สร้างเนื้อทองแดงเนื้อเดียว จำนวน 5,000 เหรียญ 2.สร้างรูปเหมือนหล่อรุ่น๑ เนื้อทองเหลืองเนื้อเดียว จำนวน 1,000 องค์ 3.พระกริ่งวัชระรุ่น๒ เป็นแบบพระกริ่งจีนใหญ่ สร้างเนื้อทองแดงเนื้อเดียว จำนวน 800 องค์ และต่อมาในต้นปีพ.ศ.2552 ได้จัดสร้างเหรียญรูปไข่แซยิด ๘๕ ปี เป็นเนื้ออัลปาก้าเพียงเนื้อเดียวจำนวน 2,551 เหรียญๆ รุ่นนี้ได้หมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว ได้รับความนิยมมากและในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ได้ออกเหรียญรุ่นโภคทรัพย์เศรษฐีและล็อคเก๊ตต่าง ๆ ให้บูชาเพื่อนำปัจจัยไปสมทบทุนช่วยสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลชะอำ เหรียญโภคทรัพย์เศรษฐีสร้างเนื้อเงิน จำนวน 99 เหรียญ เนื้ออัลปาก้า จำนวน 7,400 เหรียญ เหรียญรุ่นนี้การติดต่อขอบูชาของนักสะสมค่อนข้างร้อนแรงเพราะเนื้อเงินหายากมาก และทางวัดได้สร้างสมเด็จวัชระเนื้อผงสำหรับแจกเป็นพระของขวัญวัดนิคมวชิราราม จำนวนประมาณ 10,000 องค์ วัตถุมงคลหลวงพ่อหวลกำลังได้รับความนิยมและต้องการของนักสะสมต่อตามวัตถุมงคลหลวงพ่ออุ้น ในอนาคตวัตถุมงคลหลวงพ่อหวลจะได้รับความนิยมมากและในปีพ.ศ.2552 นี้ หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม จะมีวัตถุมงคลออกให้บูชาอีกเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ 1. รูปเหมือนปั้มรุ่น๑ 2. เหรียญทานบารมีรุ่น๑ 3.เหรียญเม็ดแตงรุ่น๑ ต่อจากนี้ไปคงจะไม่มีการจัดสร้างอีก ท่านบอกว่าไม่มีโครงการสร้างอะไรออกแล้วชาวบ้านจะว่าได้
ตำแหน่งสมณศักดิ์
พ.ศ.2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนิคมวชิราราม
พ.ศ.2502 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2515 ได้รับสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอชะอำ ถึงพ.ศ.2548 รวมเป็นเจ้าคณะอำเภอถึง 33 ปี
พ.ศ.2542 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูปริยัตยานุโยค
พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะในพระราชทินนามว่าที่ “พระญาณโมลี” เป็นพระราชาคณะสามัญ
พ.ศ.2549 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอชะอำ เป็นที่ปรึกษานโยบายการปกครองคณะสงฆ์อำเภอชะอำ
สาธารณสงเคราะห์
ในปีพ.ศ.2546 ดำเนินการสร้างอาคารผู้ป่วยในโรงพยาบาลชะอำ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยให้ช
บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโครงการบริจาคโลหิตของคณะสงฆ์อำเภอชะอำ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 จนได้รับเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่๑ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า วัดนิคมวชิราราม ได้เป็นสถาบันที่ให้ความร่วมมือจัดหาผู้บริจาคโลหิตเป็นหมู่คณะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างสม่ำเสมอนานกว่า 4 ปี รวมปริมาณโลหิตที่บริจาคเกินกว่า ๕,๒๒๐ ขวด สมควรได้รับประกาศเกียรติคุณชั้นที่๒ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๒
สร้างวัดและพัฒนา
พื้นที่สร้างวัดนิคมวชิรารามนี้ แต่เดิมเป็นป่ารกมาก พื้นที่เป็นดินดานเนื้อดินน้อยมาก ไม่มีใครจับจองไปทำกิน อีกทั้งเป็นแอ่งลึกก้นกะทะ น้ำหายาก ไฟฟ้าไม่มี ถนนสายใหญ่ สายเพชรเกษม (ท่ายาง-ชะอำ)ยังไม่มี เป็นที่ดินที่ทางราชการกรมประชาสงเคราะห์ได้กันไว้สำหรับสร้างวัด ได้มอบให้เป็นที่สำหรับสงฆ์ ด้วยเหตุสืบต่อเนื่องมาจากในปีพ.ศ.2497 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม มีนโยบายช่วยเหลือคนจน และเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ได้ประกาศให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินยื่นรายชื่อแจ้งความจำนงประสงค์ต้องการจับจองที่ดินต่อทางราชการ โดยทางราชการจะมอบที่ดินให้ครอบครัวละ 25ไร่ และเงินสำหรับดำรงชีพในเบื้องต้นอีก 2,500 บาท โดยที่ต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกคนจนจริงจึงจะได้ที่ดิน ที่ดินส่วนใหญ่เนื้อดินไร้คุณภาพ ป่าก็เป็นป่าไม่มีคุณภาพ ต้นไม้แทบจะไม่มี เพราะดินไม่ดี กันดารมาก ท่านจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ท่านมาเปิดการสร้างนิคมเขื่อนเพชรได้กล่าวกับชาวบ้านว่าอย่าทิ้งพื้นที่นะ ต่อไปจะมีน้ำ มีไฟ ได้มีคนยากจนมาจากทางภาคอีสานมาก ที่มาจับจองที่ดินในส่วนที่ทางการได้จัดไว้ให้สร้างวัด ก็ยังเป็นป่ารกร้าง ต่อมาในปีพ.ศ.2498 ทางคณะสงฆ์โดยมีเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ได้นิมนต์หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดชะอำคีรี ให้มาสร้างวัดนิคมวชิรารามและเป็นเจ้าอาวาสในเบื้องต้น หลวงพ่อหวล ได้มาทำการหักล้างถางพงด้วยตนเอง และต่อมาก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์จากวัดชะอำมาช่วยอีก 2 รูป เมื่อได้หักล้างถางพงแล้ว ก็ได้สร้างหอสวดมนต์ขึ้น 1 หลังโดยใช้สำหรับทำบุญและสวดมนต์และหลวงพ่อได้เศษไม้ที่เหลือจากการสร้างนิคมมาทำกุฏิหลังเล็ก ๆ เฉพาะพระอยู่อาศัยได้หลังละเพียง 1 รูปจำนวน 6 หลังในสมัยนั้นไม้ต่าง ๆ บนภูเขามีมากหาง่าย หลวงพ่อหวล ท่านเล่าให้ฟังว่าพื้นที่กันดารมาก แห้งแรงน้ำก็หายาก ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ชาวบ้านยากจนข้าวไม่มีจะกิน ลำบากมาก ส่วนพระภิกษุจำต้องฉันหัวบุก หัวมันขุดหาตามภูเขาไหล่เขา เวลากลางคืนสวดมนต์ต้องใช้ลังผึ้งล้าง เอาผึ้งล้างมาหุง เอาขี้ผึ้งมาฟั่นกับด้ายดิบปั่นทำเป็นเทียนจุดไฟ ท่านนำหินมาฝนให้เกิดประกายไฟ ยามไม่ใช้ไฟแล้วก็นำแก้วมาครอบไฟก็ดับ ไว้ใช้จุดไฟในครั้งหน้า
สำหรับชาวบ้านต้องอาศัยกินเนื้อแย้ ไก่ป่า เพราะมีไก่ป่ามากเป็นหมื่น ๆ ตัว ตอนนั้นถนนสายเพชรเกษมซึ่งเป็นสายใหญ่ท่ายาง-ชะอำ ยังไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้ ในครั้งที่หลวงพ่อหวล สมัยยังเป็นฆราวาส ท่านได้เคยรับจ้างเป็นหัวหน้าคนงานเดินป่าวางหมุดแนวเขตเส้นทางสำหรับทำการก่อสร้างถนนเส้นท่ายาง-ชะอำ ปัจจุบันก็คือถนนเพชรเกษมนั่นเอง เป็นเวลาผ่านมาแล้วมากกว่า 65 ปี สมัยนั้นผู้คนและชาวบ้านยากจนมาก เพราะความเจริญยังมาไม่ถึง ในปีหนึ่งกฐินจะได้ปีละ 10,000 บาท บางปีก็ได้ 20,000 บาทเท่านั้น หลวงพ่อหวล ยติธมฺโม มิเคยนำเอาเงินกฐินมาใช้จ่ายในการก่อสร้างเลยตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เงินกฐินทั้งหลายหลวงพ่อได้ฝากเข้าบัญชีของวัดไว้ทั้งหมด การสร้างวัดของท่านด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านและเงินส่วนตัวของท่าน หลวงพ่อหวล ยติธมโม มีอุตสาหะมานะอดทน ฝ่าฟัน ตั้งใจพัฒนา สร้างสมบารมีจนได้รับแรงศรัทธาจากชาวบ้านให้ความร่วมมือ หลวงพ่อหวล ใช้ชีวิตจิตใจ แรงกาย แรงแห่งปัญญาและความสามารถสร้างความดีเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จนถึงปัจจุบันนี้ วัดนิคมวชิรารามได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๓๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น