วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

""หลวงปู่พิมพ์ (มาลัย)มาลโย""


หลวงปู่พิมพ์ (มาลัย) พื้นเพท่านเป็นคนหนองรีโดยกำเนิด โยมบิดาชื่อว่า พา โยมมารดาชื่อ อ่วม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีท่านเกิดในสกุล มาลัย ประมาณ พ.ศ.2441 ที่บ้านหนองรีนี่เอง ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ชิวิตในวัยเยาว์ท่านดำเนินอย่างเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่วๆ เมื่ออายุครบเกณฑ์ท่านได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติในหน่วยเสนารักษ์ในจังหวัดราชบุรีและอยู่ต่อเรื่อยมา จนประมาณ๖ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย ชะรอยจะเป็นบารมีที่ท่าน สร้างสมมาในอดีตจึงมีวาสนากับผ้ากาสาวพัสตร์ นิยมในเพศบรรพชิตจึงลาออกจากทหาร มาอุปสมบทที่วัดตโหนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี โดยมี พระอาจารย์แช่ม วัดบางนาเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปูทองศุข อินทโชโต วัดตโหนดหลวง(พระเถระรูปนี้ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมที่ยิ่งยงมากท่านหนึ่ง) เป็นพระกรรมวาจา เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า มาลโย เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุใหม่ก็ได้ร่ำเรียนพระวินัย และปริยัติตามแนวทางแห่ง พระพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่ง แล้วท่านยังได้รับความเมตตาถ่ายทอด วิชาไสยเวทย์จากหลวงปู่ทองศุข วัดตโหนดหลวง ซึ่งถือว่าเป็นพระคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและบารมีมากรูปหนึ่ง ในสยามขณะนั้น ถึงขนาดมีการร่ำลือว่าผู้ที่มีบุญบารมีสูงยิ่งของประเทศในขณะนั้น ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์ จนเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน อาจเป็นเหตุที่หลวงปู่พิมพ์ ท่านมีศักดิ์เป็นหลานสนิทของหลวงปู่ทองศุข วัดตโหนหลวง โดยที่โยมมารดา ของท่านเป็นพี่สาวหลวงปู่ทองศุข จึงทำให้ท่านได้รับความเมตตามากเป็นพิเศษ ท่านหลวงปู่พิมพ์ แม้จะมีศักดิ์เป็นหลานหลวงปู่ทองศุขท่าน ก็ไม่ถือดีกลับตั้งมั่นมุ่งมานะฝึกฝนเล่าเรียนสรรพวิชาที่ หลวงปู่ทองศุข วัดตโหนดหลวง เมตตาสั่งสอนให้โดยไม่ปิดบังอำพราง ด้วยความวิริยะ และบุญบารมี ที่ท่านหลวงปูพิมพ์ สั่งสมมาในอดีต ไม่นานท่านก็สำเร็จวิชาต่างๆทำได้เข้มขลังจนเป็นที่ไว้วางใจ ของหลวงปู่ทองศุข วัดตโหนดหลวง ขนาดให้หลวงปู่พิมพ์ (ซึ่งยังเพิ่งบวชได้ไม่นาน) เป็นอาจารย์สักยันต์ครู หลวงปู่ทองศุข (ตอนท่านก็ยังมีชิวิตอยู่)จนรวบรวมปัจจัยก่อสร้างกุฏิ
.
วัดตโหนดหลวงได้ถึงสองหลัง (พ.ศ.2481) นับว่าท่านหลวงปู่พิมพ์เป็นผู้หนึ่ง ที่สำเร็จวิทยาคมในตำหรับ หลวงปู่ทองศุข โดยหลวงปู่ทองศุข เอง เป็นผู้ให้ความไว้วางใจ หลังจากที่ท่านได้สำเร็จวิทยาคุณในสายหลวงปู่ทองศุข วัดตโหนดหลวงแล้ว ท่านยังเป็นผู้ใฝ่การศึกษาก็ขวนขวายหา พระอาจารย์องค์อื่นๆเพื่อร่ำเรียนวิทยาคมต่อไป ในสมัยนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีที่ยิ่งยง ด้วยวิทยาคมที่แปลกประหลาด หาวิทยาคมสายใดจะเทียบเคียงได้ยาก ด้วยวิทยาคุณ ที่ประสิทธิให้ศิษย์ มีความพิศดาร และเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิชาสูงสุดทางไสยเวทสยาม แขนงหนึ่ง นั่นคือวิชาฝังเข็มทองคนองฤทธิ์นั่นเอง พระเกจิอาจารย์รูปนี้ ชื่อพระอาจารย์สมพงษ์ วัดหนองไม้เหลือง จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้นมี ผู้มาฝากตัวเรียนวิชาเข็มทองนี้ กับพระอาจารย์สมพงษ์กันเป็นจำนวนมาก แต่หาผู้ที่สำเร็จยากมาก เพราะต้องมีมานะบากบั่นทำจริง ฝึกกันจริงๆจึงจะสำเร็จได้ การฝังเข็มเป็นไสยเวท ที่มีมาช้านาน และเป็นความเชื่อของคนในสมัยนั้น การฝังเข็มนี่มีหลายตำรา ว่ากันทั้งเข็มเย็บผ้า เข็มสามกษัตริย์ เข็มสัตตะโลหะ แต่มักเป็นเข็มตาย คือฝังแล้วอยู่กับที่แบบฝังตะกรุด กับหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ เมืองโคราช แต่วิชาที่หลวงปู่พิมพ์ที่ท่านเรียน กับพระอาจารย์สมพงษ์นี้พิสดารกว่าครับ คือหากทำสำเร็จแล้วเข็มทองคำ ที่ประจุอาคมเมื่อฝังผ่านชั้นหนังจะแสดงอิทธิคุณ เหมือนมีชีวิตพลิกตัวระเบิดเนื้อด้วยอำนาจอาคม ไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย

ผู้ฝังได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ เข็มนี้ไปได้ทั่วตัวเว้น ตากับหัวใจ ที่ลงอาคมกรึงไว้ อย่างแน่นหนา และเป็นเคล็ดสำคัญที่วิทยาคมสำนักอื่น มิอาจถอดถอนได้เลย เรื่องเข็มที่วิ่งไปได้ทั่วตัวนี่ไม่ใช่เรื่องที่คุยกันเล่นๆ มีหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานโดยการถ่ายพิมพ์เอกเรย์มาแล้ว และผู้ที่ฝังเข็มหาก ถือองค์ภาวนาได้ จะสามารถเรียกเข็มทอง ให้ระเบิดเนื้อไปที่ส่วนใดๆของร่างกายโดยไม่เป็นอันตรายได้ เป็นความมหัศจรรย์อย่างเอกอุ ของวิทยาคมสายนี้ ส่วนอานุภาพของเข็มทอง เมื่อแสดงอิทธิฤทธิให้ประจักษ์ขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิเศษขนาดไหน เรียกได้ว่าครอบจักรวาลเลยทีเดียว เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ได้รับ การถ่ายทอดวิชามาจากพระอาจารย์สมพงษ์ แล้วท่านต้องออกธุดงค์ เพื่อหาที่สงัดบำเพ็ญจิตให้เกิดอานุภาพ จึงจะสำเร็จวิชานี้ได้เพราะวิชานี้ หากพลังจิตไม่เข้มแข็ง อย่างเอกอุสุดยอดแล้ว จะไม่สามารถทำให้เข็มที่ฝังแสดงอานุภาพได้เลย

"""หลวงพ่อห่วย จกฺกวโร"""


พระครูฌานวัชราภรณ์ (หลวงพ่อ ห่วย จกฺกวโร)
เดิมนายห่วย มีนามสกุลประมงกิจ เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ปีชวด ปัจจุบันอายุ 76 ปี บิดานายก่วง มารดานางโทน บ้านบางเก่า ต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี การศึกษาจบชั้นประถมปีที่ 4
หลวงพ่อห่วย อุปสมบทเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2499 ณ วัดโตนดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียง! หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต (พระครูพินิจสุตคุณ) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระอุปัชฌาย์


เดิมชื่อ ห่วย นามสกุล ประมงกิจ
เกิด ๓ ฯ๖ ๑๑ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479
บิดา นายก่อง ประมงกิจ มารดา นางทน ประมงกิจ
ณ บ้านบางเก่า ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
อุปสมบทเมื่อ อายุ 21 ปี ในวันที่ ๕ ฯ๑๕ ๗ ปีวอก วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499
ณ วัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
พระอุปัชฌาย์ คือ พระครูพินิจสุตคุณ(หลวงพ่อทองสุข) วัดโตนดหลวง
พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระครูวชิรรังษี(หลวงพ่อจันทร์) วัดมฤคทายวัน
พระอนุศาสวนาจารย์ คือ พระครูพินิจสมณคุณ(หลวงพ่อหล่อ) วัดหนองศาลา
วิทยาฐานะ พ.ศ. 2492 สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประชาบาลบ้านบางเก่า ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2501 สอบได้นักธรรมโท จากสำนักเรียนวัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2514 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง
พ.ศ. 2515 เป็นกรรมวาจาจารย์
พ.ศ. 2532 หัวหน้าสำนักฯ และสร้างวัดห้วยทรายใต้
พ.ศ. 2537 สำเร็จหลักสูตร การบริหารทั่วไป และการสอนพระปริยัติธรรมตามโครงการถวายความรู้พระสงฆ์ ของคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบุรี และสถาบันราชภัฏเพชรบุรี
พ.ศ. 2539 สอบได้นักธรรมเอก จากสำนักเรียนวัดเขาทะโมน
เจ้าอาวาสวัดห้วยทรายใต้
พ.ศ. 2540 เจ้าคณะตำบลชะอำ
พ.ศ. 2543 รับสมณศักดิ์ พระครูฌานวัชราภรณ์
พ.ศ. 2544 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2548 เจ้าคณะอำเภอชะอำ

สาเหตุที่มาเป็นเจ้าอาวาส วัดห้วยทรายใต้ วันที่ 6 กรกฏาคม 2532 ได้มีชาวบ้านห้วยทรายใต้ และคณะกรรมการวัดพิจารณาว่าวัดไม่มี ผู้ปกครองดูแล ไม่มีผู้นำทางที่พึ่งทางจิตใจ บรรดาชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปกราบอาราธนา พระห่วย จกฺกวโร รองเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวงซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง คนส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงจะรู้จักดีโดยเฉพาะนักนิยมวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต ท่านได้อธิษฐานจิตปลุกเสกแจกจ่ายให้แล้ว จะเก็บรักษาและห่วงแหนเพราะมีอานุภาพต่าง ๆ ปรากฏแก่ผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธานำวัตถุมงคลของพระคุณท่านติดตัวและมีไว้ในบ้านเรือน หลวงพ่อทองสุข ท่านยังเป็นพระหมอที่รักษาโรคร้ายต่าง ๆ ที่มีตัวและไม่มีตัว (โรคที่ไม่มีตัวคือโรคที่เกิดจากเวทย์มนต์คาถา เช่น ถูกเสน่ห์ ยาแฝด และผีเข้าเจ้าทำ เป็นต้น) และหลวงพ่อทองสุข ยังมีความเชี่ยวชาญ ในทางสมถวิปัสสนากรรมฐาน มีทั้งบรรชิต และคฤหัสถ์มากมายได้มาขอสมัครตัว เป็นศิษย์ของท่าน
โบราณท่านกล่าวไว้ว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" หรือ "เชื่อไม่ทิ้งแถว" ซึ่งเป็นความจริงตามที่คนโบราณท่านว่าไว้ เพราะหลวงพ่อวัดห้วยทรายใต้องค์ปัจจุบัน คือ พระครูฌานวัชราภรณ์ (หลวงพ่อห่วย จกฺกวโร) ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาการด้านต่าง ๆ จากการเรียนรู้ จากประสบการณ์ การกระทำจากหลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต ได้ดีพอสมควรจนชาวบ้านทั่วไปมักพากันพูดสรรเสริญว่าหลวงพ่อห่วยเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อทองสุของค์หนึ่ง
หลังจากที่หลวงพ่อห่วยท่านได้รับอาราธนาจากชาวบ้าน และคณะกรรมการวัดห้วยทรายใต้ ท่านมิอาจขัดศรัทธาได้ และอีกประการหนึ่ง ท่านเป็นผู้รู้อุปการคุณของผู้มีพระคุณ กล่าวคือเมื่อหลายปีก่อน หลวงพ่อห่วยท่านได้นำโยมมารดาของท่านมาให้หลวงพ่อโต จุนฺโทรักษาโรคตาและจากการที่ได้คลุกคลีอยู่ร่วมเสนาสนะกับหลวงพ่อโต ทำให้หลวงพ่อโตเกิดความนิยมชื่นชมในอัธยาศัยไมตรี และการประพฤติปฏิบัติในศีลาจารวัตร หลวงพ่อโตท่านได้กล่าวชักชวนให้หลวงพ่อห่วยมาอยู่ด้วยกัน ประกอบกับตอนนั้นหลวงพ่อห่วยยังมีภารกิจในทางสำนักวัดโตนดหลวงอยู่ ท่านจึงได้พูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า "กระผมไม่มีความสามารถและยังไม่พร้อม"
ต่อมาหลวงพ่อโตท่านได้อาพาธอย่างหนักใกล้จะมรณภาพ ท่านเรียกกรรมการวัดที่ไปพยาบาลท่านมาใกล้เตียงท่าน หลวงพ่อโตท่านได้กล่าวกับกรรมการวัดว่า "เมื่อฉันตายแล้วขอให้ไปนิมนต์หลวงพ่อห่วยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านเราให้ได้เพราะฉันเชื่อว่าท่านองค์นี้จะเป็นผู้นำทางศาสนาและทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองได้ดี อย่าลืม.. ต้องนิมนต์ท่านมาให้ได้" กล่าวจบหลวงพ่อโตท่านมีสีหน้าสดชื่นและรอยยิ้มปรากฏ แต่ดวงตาของท่านค่อย ๆ หรี่ลงเหมือนคนนอนหลับอย่างมีความสุข เป็นความสุขชั่วนิรันดร์ หลวงพ่อโตท่านสู่สุคติภพแล้ว หากญาณวิถีแห่งจิตของหลวงพ่อโตท่านสามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันนี้ ท่านคงจะต้องกล่าวด้วยปิติโสมนัสว่า "สาธุ" แน่แท้

"""หลวงพ่อผล เตชธมโม"""


ประวัติ หลวงพ่อผล วัดหนองแขม
สถานภาพปัจจุบัน
สมศักดิ์ พระครูวิวิตสมาจาร
นามเดิม ผล
ฉายา เตชธมโม
อายุ 76 ปี
พรรษา 56 พรรษา
วุฒิทางการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองบ้วย ตำบลท่ายาง
อำเภอท่ายาง จังหวัด เพชรบุรี นักธรรมเอก พระสังฆาธิการชั้นสูง
สถานภาพเดิม
ชื่อ ผล
นามสกุล จันทร์อินพรม
เกิด วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีกุน
หมู่ที่ 7 บ้านหนองบ้วย ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
บิดา นายชื่น จันทร์อินพรม มีภรรยา 2 คน
มารดา นางต่อม ใจกล้า มีบุตร 1 คน
นางส่าน จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
มารดา นางมา จันทร์อินพรม มีบุตร 12 คน คือ
1.นางทองคำ จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
2.นายตุน จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
3.นายพรม จันทร์อินพรม
4.นางสาย จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
5.นายสุข จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
6.นางหริ่ม จันทร์อินพรม
7.นางแหร่ม แซ่ซิ้ม ถึงแก่กรรม
8.นางหรุ่ม ภู่เจริญ ปัจจุบันบวชชี
9.นายจันทร์ จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
10.นางสาวอินทร์ จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
11.นางสาวผ่อน จันทร์อินพรม ถึงแก่กรรม
12.พระครูวิวิตสมาจาร (ผล จันทร์อินพรม)

อุปสมบท วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ณ วัดบรรพตาวาส (เขากระจิว) ตำบลท่ายาง
อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี และจำพรรษาวัดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 รวม 18 พรรษา
จำพรรษาที่วัดสหธรรมิการาม (หนองแขม) พ.ศ. 2516-2538 รวม 22 พรรษา
พระอุปัชฌาย์ พระสุทธิสารสุธี เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (เขาวัง) อำเภอเมือง
จังหวัดเพชรบุรี
พระกรรมวาจารย์ พระครูสมุห์พร้อม วัดมหามสณาราม (เขาวัง)
พระอนุสาวนาจารย์ พระครูสมุห์ทอง เจ้าอาวาสวัดบรรตาวาส (เขากระจิว)

สมศักดิ์ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี
เจ้าอาวาสวัดราษฎรในราชทินนามที่พระครูวิวิตสมาจาร

5 ธันวาคม พ.ศ. 2526 เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นโท
เจ้าอาวาสวัดราษฎรในราชทินนามที่พระครูวิวิตสมาจาร

5 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นเจ้สาคณะตำบลชั้นโท
ในราชทินนามที่พระครูวิวิตสมาจาร

วิทยฐานะทางการศึกษา
พ.ศ.2490 สำเร็จการศึกษาวิชาสามัญชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนหนองบ้วย
ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2498 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. 2499 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. 2502 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. 2519 จบการศึกษาโรงเรียน พระสังฆาธิการชั้นสูง ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. 2522 เข้าอบความรู้ระดับเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2500ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนนักธรรมประจำโรงเรียนปริยัติธรรมศรัทธาสามัคคี
วัดบรรตาวาส (เขากระจิว)
พ.ศ. 2516 รักษาการเจ้าอาวาสวัดสหธรรมิการาม (หนองแขม)
พ.ศ. 2517 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดสหธรรมิการาม วันที่ 9 กรกฎาคม
พ.ศ. 2530 ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะตำบลเมื่อวันที่ 14 เมษายน

พระครูวิวิตสมาจาร ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย สอบได้นักธรรมตรี โท เอก
ตามลำดับ แลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนนักธรรมประจำโรงเรียนปริยัติธรรมศรัทธาสามัคคี ของวับรรตาวาส และวัดสหธรรมิการาม
หลวงพ่อเป็นพระนักปฏิบัติมาโดยตลอด สมัยที่ท่านอยู่วัดบรรตาวาส
ท่านจะคอยช่วยเหลือหลวงพ่อทองอยู่เสมอ เช่น เรื่องการทุบหิน การสร้างโบสถ์
การสอนนักธรรม การอบรมดูแลพระลูกวัด การอบรมดูแลลูกศิษย์วัด การสวดท่องปาฎิโมกข์
การทำความสะอาดบริเวณวัด และการดูแลสาธารณสมบัติของวัด
หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดสหธรรมิการาม เมื่อปี พ.ศ. 2516
ท่านดำเนินการปรับปรุงวัดและเสนาสนะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น
สะอาดงดงาม ให้พระภิกษาสามเณรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มีพระและสามเณรเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ตลอดจนเรื่องการพัฒนนาสร้างสรรค์ความเจริญในท้องถิ่น
โดยเฉพาะการช่วยเหลือพีฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ
เช่นโรงเรียน สถานีอนามัยหมู่บ้าน ถนน ประปา
นอกจากนี้แล้วหลวงพ่อยังได้ดำเนินการพัฒนาและกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อสังคมและชุมชน
อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อาทิ ได้สร้างถนนด้านหลังวัดสำหรับติดต่อหมู่บ้าน
เพื่อให้ชุมชนสะดวกในการติดต่อไปมากับวัดและชุมชนอื่น
ก่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก

ในด้านสาธารณูปโภค ท่านได้ขุดลอกคูน้ำคลองสามสายถึงวัดและหมู่บ้าน
ขุดลอกสระเพื่อให้ประชาชนและพระใช้ในการอุปโภคบริโภค
จัดทำประปาสำหรับวัดและหมู่บ้านที่ใกล้เคียงวัด
นับเป็นความเอื้ออาทรที่หลวงพ่อได้เมตตาต่อชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการศึกษา หลวงพ่อได้ตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างมาก
ท่านได้อุปการะดูแลให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ตั้งแต่ช่วยวางแผนการย้ายอาคารเรียน ก่อสร้างอาคารเรียนใหม่
การมอบวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเป็นประจำ
เด็กนักเรียนคนใดขาดแคลนเรื่องอาหารกลางวัน
ท่านก็เมตตาให้ไปรับประทานอาหารที่วัดได้ทุกวัน ท่านได้เป็นประธานกรรมการศึกษา
ช่วยบริการดูแลโรงเรียนจนทำให้กิจกรรมของโรงเรียนบ้านหนองแขมดำเนินไปด้วยดี
จัดการประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

การบริการชุมชนด้านอนามัย ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในหมู่บ้าน
ท่านก็ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเช่นเดียวกัน ท่านได้มอบที่ดินของวัดจำนวน 1
ไร่เศษให้เป็นที่ตั้งของสถานีอนามัย ตำบลท่ายาง ได้บริการด้านสาธารณสุข
ให้กับประชาชนได้มาก

ด้านการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่น
ท่านได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมการสานเข่ง ให้กับผู้สนใจประกอบอาชีพเป็นอาชีพรอง
เป็นการหารายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพหลัก

ปัจจุบันวัดสหธรรมิการาม (หนองแขม)
เป็นสถานที่เผยพระพุทธศาสนาที่นับวันจะเจริญรุ่งเรืองทั้งกิจกรรมสืบสานพุทธศาสนาและกิจกรรมเพื่อมวลชน
ให้พัฒนาทั้งกายและใจ ทั้งนี้โดยการอำนวยการของท่านเป็นที่ตั้ง
มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน 69 รูป สามเณร 14 รูป ธรรมศึกษาโท 4 รูป
นับว่าเป็นวัดที่กำลังพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
ทั้งนี้โดยบารมีของท่านหลวงพ่อผลโดยแท้

"""หลวงพ่อจ่าง อเชยโย""""


หลวงพ่อจ่าง อเชยโย (พระครูสุนทรวชิรเวช) อดีตเจ้าคณะอำเภอท่ายางและอดีตเจ้าอาวาส วัดเขื่อนเพชร อ.ท่ายาง เพชรบุรี รุ่นเงินทองไหลมา ประวัติหลวงพ่อจ่าง เป็นศิษย์หลวงพ่อฉิม วัดท่าคอย หลวงปู่ทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เกิดปี พ.ศ. 2451 มรณภาพ ปี พ.ศ.2545 สิริอายุรวม 94 ปี ปัจจุบันทางวัดยังเก็บสังขารของท่านอยู่เพราะไม่เน่าเปื่อย


"""พระอาจารย์จิ สมจิตโต"""


ประวัติโดยย่อ พระครูสมุห์สมจิต (พระอาจารย์จิ สมจิตโต) วัดหนองว้า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2507 ที่บ้านในดอน ต.หนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2527 ศึกษาเล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐาน กับหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชร บุรี และศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประ จวบฯ ปัจจุบันเป็นรองเจ้าอาวาสวัดหนองว้าและเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลหาดเจ้าสำราญ
หลังจากปี พ.ศ. 2529 ที่ ท่าน พระอาจารย์จิ ท่านได้ศึกษาวิชาอาคมวิชาไสย์เวทย์ต่างๆ จากหลวงพ่อยิดจนหมดไส้หมดพุงแล้ว หลวงพ่อยิดท่านได้เอ่ยปากชวนอยู่จำพรรษาที่วัดหนองจอกเลย และจะให้กรรมการปลูกกุฏิให้อยู่จำพรรษาต่างหากเลยแต่พระอาจารย์จิ ท่านก็ไม่สามารถทำตามความประสงค์ของหลวงพ่อยิดได้ ท่านจึงได้ลาหลวงพ่อยิดกลับมาอยู่จำพรรษาต่อที่วัดหนองหว้าและนำวิชาต่างๆ ที่หลวงพ่อยิดถ่ายทอดมาให้หมั่นฝึกฝนอยู่เป็นเนืองนิตย์ไม่เคยขาด ไม่เคยละในวัตรปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติหมั่นเพียรอยู่ตลอดเวลา จนจิตเป็นสมาธินิ่งสงบและที่มาที่ไปของคำที่ว่า หลวงพ่อยิดท่าสนเอ่ยปากพูดขึ้นว่า "ท่านจิ ท่าสนเก่งจริงๆ ทำอำไร ปลุกเสกอะไรได้เหมือนหลวงพ่อทุกอย่าง" ท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหาหลายท่าน มีทั้งพระสงฆ์ และฆราวาส เนื่องด้วยประมาณปี พ.ศ. 2535 ต้นๆ ปี ในขณะนั้นผู้เขียนเองก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ได้มีพระรูปหนึ่งชื่อ หลวงตาเพลิน เคยบวชอยู่ที่วัดบางทะลุ ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระผู้ที่มาริเริ่มบูรณะวัดเก่าแก่ ซึ่งเหลือโบสถ์เก่าเป็นหลักฐานอยู่ที่ดอนบ้านใหม่ ในพื้นที่เขตตำบลหาดเจ้าสำราญ รกร้างมานานจนเป็นเรื่องกล่าวขานกันว่า....
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย พระสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแตงโม เป็นผู้สร้าง ซึ่ง หลวงตาเพลิน เป็นลูกเกิดที่นั่น มีจิตเป็นกุศลอยากจะบูรณะวัดร้างให้เป็นวัดสมบูรณ์จึงพาญาติโยมเดินทางมาหาหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก เพื่อขอวัตถุมงคลของหลวงพ่อยิดไปแจกเป็นมงคลให้กับผู้ที่มาบริจาคทรัพย์ร่วมสร้างวัดดอนบ้านใหม่พอเอ่ยปากบอกกับ หลวงพ่อยิด ท่านจึงเอ่ยปากพูดขึ้นว่า หลวงตาเพลินจะเอาปลัดขิก ไม่ต้องมาถึงฉันนี่หรอก ไปหาท่านจิ วัดหนองหว้าซิเป็นลูกศิษย์ฉันเอง "ท่านจิท่านเก่งจริงๆ ทำอะไรปลุกเสกอะไรได้เหมือนฉันทุกอย่างเลย" ของที่ท่านจิปลุกเหมือนกับฉันปลุกเสกเลยทุกอย่างไม่ต้องมาถึงกุยบุรีหรอก อยู่เพชรบุรีใกล้กันนิดเดียว จากคำพูดนี้เอง หลวงตาเพลิน จึงได้ให้ชาวบ้านแกะปลัดขิก และนำไปให้ พระอาจารย์จิ ลงจารยันต์ปลุกเสกมาตลอดทุกปี แล้วนำปลักขิกนี้มาแจกให้กับผู้ที่มีความศรัทธา ร่วมสร้างวัดจนเป็นวัดดอนบ้านใหม่อย่างสมบูรณ์แบบทุกวันนี้ก็ด้วยบารมีพระอาจารย์จิ ปลุกเสกปลัดขิกให้จริงๆ มีผู้คนมากมายที่นำวัตถุมงคลของท่านไปใช้ได้ผลจริงๆ มีประสบการณ์มากมาย ปลัดขิกของท่านพุทธคุณครบเครื่องเหมือนกับของหลวงพ่อยิด ผู้เป็นอาจารย์จริงๆ ดีเด่นทางด้านมหาเมตตา ค้าขายดี พกติดตัวแคล้วคลาด แลอดภัย เป็นคงกระพันชาตรีอีกด้วย ปัจจุบันท่านได้สร้างวัตถุมงคลออกมาอย่างเป็นทางการให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชากัน ซึ่งมีกระแสตอบรับดีมาก ศิษย์หลวงพ่อยิด จำนวนมากได้มาบูชาเก็บวัตถุมงคลของท่านกัน เพราะรู้ว่าวันข้างหน้าดังแน่นอน จึงได้รีบเก็บบูชาไว้ก่อนต่อไปหายากเดี๋ยวจะบูชาแพงเหมือนของหลวงพ่อยิดที่ตอนนี้หายากแล้ว
ท่านเป็นพระอาจารย์หนุ่ม อายุ 40 กว่าๆ ปี สงบ นิ่ง สุขุม ไม่พูดมาก สำรวมในกริยาแบบพระสุปฎิปันโน ลายจารอักขระสวยงาม เข็มขลัง ไม่แพ้อาจารย์ของท่าน ***ท่านออกวัตถุมงคลมานานแล้ว แต่ด้วยท่านเป็นพระหนุ่ม คนจึงมองข้ามท่านไป ไปเพชรบุรี ก็เข้าวัดตาลกง ไปไม่ถึง วัดหนองหว้า สักที หรือไม่ ก็เลยไปวัดชายนา เลยที่เดียว ด้วยความที่เป็นพระพูดน้อย เลยทำให้บางคนมองไปต่างๆนาๆ ซึ่งความจริงแล้วท่านมีเมตตามาก ขอแค่เอ่ยปากเท่านั้นท่านไม่เคยขัด อันนี้ผมสัมพัสกับตัวเองมาแล้วคับ***
กล่าวถึงวิชาที่มาจากสายหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวงแล้ว ลูกศิษย์ที่ยังทรงขารก็น่าจะหลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง หลวงพ่อห่วย วัดห้วยทรายใต้ ก็ศิษย์หลวงพ่อทองสุข หลวงพ่อแผ้วด้วย หลวงปู่คำ วัดหนองแก ศิษย์หลวงพ่อทองสุข หลวงปู่นาค วัดหัวหิน หลวงปู่เปี่ยม วัดเกาะหลัก หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก ศิษย์หลวงพ่อทองสุข ส่วนหลานศิษย์ ก็น่าจะพระอาจารย์จิ วัดหนองหว้า เพชรบุรี ศิษย์เอกหลวงพ่อยิด จึงนับได้ว่าเป็นพระรุ่นสุดท้ายที่อายุน้อยที่สุดที่สืบทอดวิชาทางสาย พ่อทองสุขมาแบบเต็มๆ ดูได้จากวัตถุมงคลหลายๆอย่างคับ นอกจากนี้ท่านยังได้วิชาทางสาย หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เจ้าของสุดยอดตะกรุด ที่ทุกคนใฝ่หา อันนี้ดูได้จากเหรียญเทวดามีสุขคับ
นอกจากปลุกเสกวัตถุมงคลได้อย่างเข้มขลังแล้ว พระอาจารย์จิยังเป็นพระสมถะไม่เคยสะสมสิ่งใด แม้ปัจจุบันท่านเป็นรองเจ้าอาวาส “ขนาดมีคนนำปัจจัยไปถวายท่าน ท่านไม่เคยเก็บสะสม ท่านถวายต่อเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งก็ได้นำปัจจัยที่ได้รับการถวายมาสร้างวัดหมดเหมือนกัน กุฏิท่านไม่มีแบ่งแยก รวมกับพระลูกวัดไม่มีแอร์ ไม่มีที่นอน เคยซื้อพัดลมตัวใหญ่ๆ ให้ท่าน ที่นอน ท่านให้เด็กนักเรียนวัดหนองหว้า และพระลูกวัดหมด อยู่อย่างสมถะจริงๆคับ ”

พระอาจารย์จิ สมจิตโต วัดหนองหว้า เพชรบุรี เป็นศิษย์หลวงพ่อยิดวัดหนองจอก... เคยได้ยินหลวงพ่อยิดจากประวัติหลวงปู่กาหลง ท่านก็เป็นศิษย์พี่ ศิษย์น้องกับหลวงพ่อยิด วัดหนอกจอกเช่นกัน...ในตำนานว่าเห็นท่านสนิทกันมาก.. หลวงปู่กาหลงเรียกไอ้ยิด ประมาณนั้น.. ท่านสอนกันเรื่องวิชาปลัดขลิก...ส่วนอาจารย์เม้งก็เช่นกัน...ท่านนับถือหลวงพ่อยิดมาก
ส่วนวัตถุมงคล ที่พระอาจารย์จิ สมจิตโตที่ได้เริ่มสร้างมา ที่มีประสบการณ์มาก ได้แก่ หนุมานเกราะเพชร ปี47 ซึ่งถ้าเป็นเนื้อที่ค่อนข้างหายากเช่น หน้าทองคำ หรือเนื้อตะกรุดโทน เหรียญนี้สร้างโดยพระอาจารย์จิ สมจิตโต วัดหนองหว้า เพชรบุรี เหรียญของท่านโดยส่วนใหญ่ท่านจะจารกำกับด้วยเหล็กจารเกือบจะทุกองค์ครับ สร้างเมื่อปี 2547 มีประสบการณ์สูงมากครับ เป็นพระทางสายเพชรบุรีรุ่นใหม่ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นศิษย์สายตรงหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก
เหรียญหนุมานของท่าน รูปหนุมานแบบนี้
หลวงพ่อยิดท่านเคยวาดเอาไว้เป็นกระดาษยันต์ โดยที่ท่านไม่ต้องร่างก่อนด้วยครับท่านเก่งทั้งพุทธศิลป์และเปี่ยมด้วยพุทธคุณจริงๆ จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง

ปิดตานะพุทโธ ปี48 นี้ก็ไม่แพ้หนุมานเกราะเพชรเช่นกันคับ ด้วยมวลสารที่ เปี่ยมด้วยพุทธคุณ เช่นเหรียญรุ่นแรก เนื้อเงิน หลวงพ่ออุ้น หลวงพ่อยิด และเกจิอาจารย์อีกหลายองค์ ที่ได้นำมาหลอมเป็นพระปิดตาชุดนี้ อีกทั้งจำนวนการสร้าง โดยเฉพาะเนื้อเงินมีไม่ถึง ต90 องค์

เหรียญไตรมาสรุ่นแรก ปี49 ซึ่งเนื้อหลักๆ ราคาไม่ต้องพูดถึง และที่โดดเด่นอีกอย่างคือ ตะกรุดรุ่นแรกๆ เช่น ตะกรุดสิงห์เหนือ-เสือใต้ ตะกรุด 357 ตะกรุดโทนคู่กาย ซึ่งจะทำจากทองแดงเป็นส่วนใหญ่ จนถึงตะกรุดรุ่นหลังประสบการณ์มากมาย ยิ่งเฉพาะทางภาคใต้ของไทยเราคับ สุดยอดแค่ไหนต้องถามทหารที่มากราบท่านที่วัดนก ไป 9 กลับมา 3 โดนระเบิดน่ะคับไม่ใช่ลูกปืนแค่สลบ ล่าสุด ต้องนำลูกปืนมาให้ท่านจารให้เพื่อฝากเพื่อนพ้องทหารด้วยกัน ความจริงท่านมีชื่อเสียงพอสมควรทางใต้ไปจนถึงมาเลเซีย โดยเฉพาะปลัดขิกของท่านพุทธคุณครบเครื่องเหมือนกับของหลวงพ่อยิด ผู้เป็นอาจารย์จริง ๆ ดีเด่นทางด้านมหาเมตตา ค้าขายดี พกติดตัวแคล้วคลาด ปลอดภัย เป็นคงกระพันชาตรีอีกด้วย ปัจจุบันท่านได้สร้างวัตถุมงคลออกมาอย่างเป็นทางการให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชากันหลายอย่าง ซึ่งมีกระแสตอบรับดีมาก
ด้วยวัตถุมงคลแต่ล่ะรุ่นที่สร้างขึ้นมานั้นมีจำนวนการสร้างที่น้อยมาก เพราะจะเน้นไปทางพุทธคุณ โลหะส่วนใหญ่จึงได้จากการหลอมวัตถุมงคลซึ่งจะไม่มี โลหะของโรงงานผสม เลยทำให้มีจำนวนน้อย และราคาค่อนข้างสูง ( อันนี้อยู่ที่ความพอใจของคนซื้อและคนขายน่ะคับ )
หากท่านใดมีโอกาสไปเพชรบุรีแล้ว นอกจาก หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง หลวงพ่อคง วัดเขากลิ้งแล้ว อย่าลืมแวะไปกราบท่านซักครั้งลองดูน่ะคับ วัดห่างจาดวัดตาลกงไม่กี่กิโล อย่างน้อยผมกล้ายืยยันว่า ท่านเป็นพระที่กราบได้สนิทใจองค์หนึ่งเลยทีเดียว

"""หลวงพ่อหริ่ง มโหสโถ"""


พระครูวัชรโพธิคุณ (หริ่ง มโหสโถ) เป็นพระเถระในจังหวัดเพชรบุรี หลวงพ่อหลิ่งเป็นพระภิกษุชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมาก
นามเดิม : หริ่ง จำปาเทศ (แซ่ลิ้ม)
บุตร : นายต่วน นางผิน จำปาเทศ
ชาตุภูมิ : ชาวตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เกิด : วันเสาร์ แรม10 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง (1 ตุลาคม พ.ศ. 2459 )
มรณภาพ : วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2540 รวมอายุได้ 82 ปี 61 พรรษา
การศึกษาฝ่ายฆราวาส สำเร็จการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดนาพรม เมื่อ พุทธศักราช 2473
การศึกษาทางบรรพชิต ขณะเยาววัยได้บรรพชาเป็นสามเณรต่อมาโยมมารดาได้ให้ท่านลาสึกขลาบท เมื่ออายุครบ 20 ปีได้ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดลาดโพธิ์ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2479 โดยพระครูปัญญากรวิโรจน์(รุ่ง)วัดโพธิ์พระใน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเลี่ยม วัดพระรูป เป็นพระกรรมาวาจาจารย์ พระครูชุ่ม วัดจันทราวาส และพระครูรวม วัดลาดโพธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แพทย์แผนไทย ศึกษาตำรับตำราจากหลวงพ่อรวม วัดลาดโพธิ์ เพชรบุรี หลังจากเรียนจนหมดสิ้นวิชาจากหลวงพ่อรวมแล้ว หลวงพ่อหริ่งก็ได้เสาะแสวงหายาสมุนไพร ตำรับ ตำราดี ที่มีชื่อเพื่อนำมารักษาให้แก่ชาวบ้านที่ไปมาท่านจนมีชื่อเสียงแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่วัดลาดโพธิ์ ครั้นเป็นภิกษุจึงได้ฉายาว่า "มโหสโถ" [2] แปลว่า "หมอใหญ่" หลังจากหลวงพ่อรวม เจ้าอาวาสวัดลาดโพธิ์ ได้มรณภาพ ท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อรวม
เจ้าอาวาสวัดลาดโพธิ์ ตำบลสำมะโรง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เจ้าคณะตำบลหาดเจ้าสำราญ
ประธาน อปต.สำมะโรง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

พระครูวัชรโพธิคุณ (หริ่ง มโหสถ) มีเวทยมนต์ทางด้านการรักษาผู้ป่วย วิชาอาคมในการต่อกระดูกที่แก่กล้าหาใครเสมอเหมือน ให้การสงเคราะห์แก่ชาวบ้านในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมิได้เรียกร้องเงินทอง สิงของตอบแทนแต่อย่างใด โดยให้การรักษาทางด้านโรคกระดูก ผิวหนัง ฯลฯ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าการรักษาจะเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจากตกต้นตาล อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือผลกระทบจากโรคอื่น เป็นต้น ในแต่ละวันจะมีผู้คนจากในแต่ละสารทิศ ที่ประสบเคราะห์กรรมมาให้หลวงพ่อรักษา ท่านก็รับรักษาหาใช่เกี่ยงงอนไม่ และเป็นที่ประจักแก่สายตาผู้คนที่มารักษาอยู่เป็นเนืองนิต โดยในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยมาหาหลวงพ่อหริ่งจนแน่นกุฏิทุกวัน

"""หลวงพ่อชม จนฺทโชติ"""


หลวงพ่อชม จนฺทโชติ นามเดิม ชม นุชนาถ เกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ ตรงกับปีวอก บ้านวังปืน ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บิดา – มารดา นายนุช นางแจ่ม นุชนาถ ประวัติ หลวงพ่อชม จนฺทโชติ อุปสมบท การศึกษาเมื่อยังเด็ก บิดา มารดาได้นำไปฝากกับ เจ้าอธิการแหยม วัดสิงห์ เรียนหนังสือไทยและขอม จนพออ่านออกเขียนได้ อีกทั้งบิดายังได้ถ่ายทอดวิชาเกี่ยวกับยาและการรักษาให้ จนมีความชำนาญ สามารถตรวจรักษาคนไข้ได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ประวัติความมีชื่อเสียง หลังจากอุปสมบทได้รักษาพยาบาลพระภิกษุ สามเณรที่อาพาธ ตลอดจนญาติโยมชาวบ้าน จนมีชี่อเสียงโด่งดังด้านการรักษาและหมอน้ำมนต์ อุปนิสัยของพ่อประการหนึ่ง คือ ชอบเล่นแร่แปรธาตุ โดยเฉพาะ ปรอท ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อชมอายุได้ ๒๗ ปี ท่านเจ้าอธิการแหยมถึงแก่มรณาภาพ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส สืบต่อมา เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและพระภิกษุสามเณร และเป็นครูบาอาจารย์ที่ดุมาก ปี พ.ศ.๒๔๘๐ อายุ ๖๕ ปี ๔๔ พรรษา ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์ และเป็นหมอยาประจำตำบลหนองโสน วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อ วัตถุมงคลที่โดดเด่นของหลวงพ่อชม มี ๒ ชนิด คือ เชือกคาดเอว มีอานุภาพทางด้านคงกระพันชาตรีเป็นเลิศ และพระปิดตามหาอุตม์ ประกอบด้วย เนื้อเมฆพัตร เนื้อทองแดงเถื่อน และเนื้อตะกั่ว หลวงพ่อชม มรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๖ รวมสิริอายุ ๗๑ ปี

หลวงพ่อพระอธิการชม วัดสิงห์ เป็นพระเถระที่เรืองเวทย์วิทยาคมอย่างเอกอุ ท่านได้สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลเอาไว้หลายอย่างอาทิ พระปิดตา และพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ แต่ที่นักสะสมเครื่องรางของขลังนิยมยกย่องมีอยู่อย่างหนึ่งที่ยังคงครองอันดับอยู่ในยุทธจักรเครื่องรางอันได้แก่เชือกคาดของหลวงพ่อชมนั่นเอง

ความเป็นมาของเชือกคาด เชือกคาดเป็นวัตถุอาถรรพ์ที่นิยมกันมาแต่โบราณ ใช้แทนเข็มขัดเวลานุ่งผ้าโจงกระเบน หรืองกางเกงอย่างอื่นที่นิยมกันหากไม่คาดเอวก็ม้วนแล้วคาดแขนแทนมงคลแขนได้ เชือดคาดมีความมุ่งหมายอยู่ สองอย่าง คือ คงกระพัน และกันเขี้ยวงูอสรพิษขบกัด โดยเฉพาะประการหลังนั้นสำคัญที่สุด หลวงพ่อโชติ วัดตะโน ท่านนั่งหลังขดหลังแข็งทำเชือกคาดก็ด้วยเหตุว่าท่านไม่ต้องการให้ชาวบ้านชาวสวนต้องได้รับภัยจากอสรพิษที่ขบกัดเพราะแถบนั้นมีงูเห่าชุมเป็นพิเศษทีเดียว และก็ไม่เคยมีสักรายเดียวที่จะมีเชือกคาดของหลวงพ่อแล้วจะถูกงูเห่ากัด นับว่าเป็นยอดมาก
การสร้างพระเครื่องเชือกคาดตามขั้นตอน เชือกคาดนั้นตามที่ได้ยินได้ฟังและศึกษามาพระอาจารย์เจ้าท่านจะใช้ผ้าขาวปิดปากโลงผีตายวันเสาร์เผาวันอังคาร หรือจะเอาเฉพาะตายวันเสาร์หรือวันอังคารชนิดตายโหงก็ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้ผ้าขาวดาดเพดานเมรุก็ได้เช่นกัน ทำพลีเอามาไว้ใช้งานเมื่อได้แล้วก็ฉีกออกเป็นริ้วๆตามยาวภาวนาเรียกสูตร ลงอักขระตามที่ประสิทธิประสาทตกทอดกันมาแต่เดิม จนกระทั่งครบสูตรจึงนำมาถักขึ้นหัวเสียก่อนจึงจะถักตัวต่อมาตามขนาดผู้ที่ต้องการ ถักไปภาวนาไปเรื่อยๆจนเสร็จเป็นเส้นจึงทำห่วงสอดหัวตรงปลายเข้าไว้เป็นเสร็จพิธีการนำไปปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ หลวงพ่อโชติ วัดตะโน ก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกันหากแต่ว่าลายถักเท่านั้นที่ผิดกันออกไป
การพิจารณาเชือกคาดของหลวงพ่อชม
1.หัวเชือกคาด หัวเชือกคาดของหลวงพ่อชมจะถักกลมเป็นลายเดียวกับลูกตะกร้อ ขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากันแล้วแต่ความยาวและกว้างของเส้นเชือก และหากเดาะดูจะรู้สึกว่ามีน้ำหนักก็เพราะหลวงพ่อท่านได้ใส่พระปิดตาบ้างใส่ลูกอม โลหะที่ท่านเทเอาไว้จากโลหะที่ท่านเล่นแร่แปรธาตุได้ก็มี
2.ลายถักของเชือกคาด จะเป็นลายพิรอดติดกัน โดยตลอดตรงกลางเรียบเสมอกัน(ของหลวงพ่อโชติ วัดตะโนถักเป้นลายกระดูกงูตรงกลางเป็นสัน) อย่างนี้เรียกว่ามาตรฐาน แต่ในตอนหลังความต้องการมากขึ้นท่านก็ต้องบอกให้พระและเณรที่อยู่ในวัดเป็นผู้ถัก ลายถักก็คงเป็นตามหลักก็คือหัวเป็นตะกร้อ แต่ตัวเส้นเชือกอาจจะมีการถักเป็นแบบพิรอดแต่มิได้ติดกันมีเว้นระยะเป็นข้อๆก็เคยพบเห็นกันอยู่เสมออย่างสงสัย
3.รักที่ลงเชือก เชือกคาดของหลวงพ่อชม วัดพระสิงห์นั้นลงรักหมดทุกเส้นจึงสามารถสังเกตความแห้งเก่าของรักได้อีกทางหนึ่ง เชือกของศิษย์สายของท่านนั้นรักยังไม่เก่าพอจึงยุติการพิจารณากันที่รักบนเส้นเชือกนี่เอง
การปลุกเสก เท่าที่ศิษย์สายตรงของหลวงพ่อชมได้ยินได้ฟังและเคยได้เห็นตรงกันว่าหลวงพ่อชมจะเอาเชือกคาดที่สำเร็จแล้วมาวางเรียงกันแล้วภาวนาคาถาส่งพลังจิตไปยังเชือกคาด เชือกคาดเหล่านั้นจะเกิดการม้วนตัวขยุกขยิกเหมือนงูส่วนหัวที่เป็นตะกร้อจะสอดเข้าไปในบ่วงร้อยที่ปลายเส้นเชือกทุกเส้นเป็นเสร็จพิธีกรรมเส้นใดบริกรรมแล้วไม่สอดเข้าบ่วงให้เอาออกมาทิ้งไปถือว่าอักขระวิบัติมาแต่ต้นใช้ไม่ได้ และเส้นใดที่บริกรรมจนสอดเข้าหากันได้ดังกล่าวเอามาใช้ติดตัวจะเกิดอำนาจคุ้มครองป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี

"""พระครูสุวรรณมุนี พ่อมี"""


พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อมี วัดพระทรง) เจ้าอาวาสวัดพระทรง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีเกิด เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ของเมืองเพชรบุรีในอดีตเชี่ยวชาญในวิปัสสนากัมมัฎฐาน และแก่กล้าในพระเวทย์วิทยาคม พระปิดตาของท่าน แม้พิมพ์ทรงแลดูไม่สวยงามนัก แต่อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แล้ว นับได้ว่าเป็นเอก และยากที่จะหาสิ่งใดเทียบได้ นอกจากนั้นท่านเป็นสหธรรมิกของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ผู้สร้างพระปิดตาที่แพงที่สุดในเมืองไทย และท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก เกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองประจวบ

""พระครูวิบูลศีลาจาร พ่อผิน""


พระครูวิบูลศีลาจาร นามเดิม ผิน นุชเจริญ เกิด วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ปีมะเส็ง อุปสมบท วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ที่วัดโพธิ์กรุ มีอธิการแย้ม วัดกุฎีดาว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สังฆนามว่า “พุทธสโร” ประวัติความมีชื่อเสียง หลวงพ่อผินมีความเลื่อมใสศรัทธาตั้งมั่นอยู่ในบวรพุทธศาสนา มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ขยันหมั่นเพียร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย หนังสือไทย หนังสือขอม อักขระวิธี และวิชาความรู้ด้านอื่นๆ อาทิ เวทมนต์คาถา และความรู้ด้านอื่นๆ ที่มีอยู่จากเจ้าพระอธิการอินจนแตกฉานหมดสิ้น พ.ศ.๒๔๕๑ ขณะหลวงพ่อผินบวช อายุ ๒๗ ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์กรุ แทนพระอธิการอิน หลวงพ่อองค์เดิมที่ลาสิกขาโดยไม่ทราบสาเหตุ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าช้างในปี ๒๔๘๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิบูลศีลจาร” ในปี ๒๔๙๕

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"""หลวงพ่อแฉ่ง สีลปญฺโญ"""


พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) เป็นเจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ชื่อเดิมว่า แฉ่ง สำเภาเงิน เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยยุคก่อนพ.ศ. 2500 แล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ



รูปหล่อพระครูญาณสาคร
ชาติภูมิ

พระครูญาณสาคร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2422 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปี เถาะ) ที่ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรนายเฉยและนางทับ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน ดังนี้
นายอั๋น สำเภาเงิน
นางสาย เข่งทอง
นายสิน สำเภาเงิน
นายแสง สำเภาเงิน
นายแบน สำเภาเงิน
นายเบี้ยว สำเภาเงิน
พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)
นางเป้า ฟังทอง
นายใจ สำเภาเงิน
ฆราวาส

“พระครูญาณสาคร” (หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ) ได้ศึกษาหนังสือไทย ณ วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนจำต้องเรียนที่วัด) ต่อมาย้ายไปเรียนที่วัดทุ่ง (ทุ่งเฟื้อ) ตั้งอยู่คลองปลายสวนทุ่ง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จนมีความรู้ในการอ่าน เขียน ภาษาไทย และภาษาขอมได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงลาการศึกษาหนังสือจากวัดปากลัด เพื่อมาช่วยบิดามารดาทำงานช่วยเหลือครอบครัว จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี ได้กราบลาบิดา มารดา เพื่ออุปสมบท เมื่อวันอังคาร ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2442 เวลา 14.15 น. (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปี กุน) ณ พัทธสีมาวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (สมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอเขาย้อย)
บรรพชาอุปสมบท“พระอธิการคล้ำ” วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์“พระอธิการทรัพย์” วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์“พระอธิการวัตร” วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ท่านได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนา ว่า “สีลปญฺโญ” คือ ผู้ทรงศีลเป็นปัญญา
สมณศักดิ์

หลังจากที่ท่านได้เป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วนั้น ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดปากลัด 1 พรรษา ต่อมาจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดเขาตะเครา 2 พรรษา แล้วจึงไปจำพรรษาอยู่วัดปากคลอง ตำบลบางครก 5 พรรษา เพื่อศึกษาวิปัสสนามัฎฐาน จนกระทั่ง"พระอธิการเปลี่ยน" วัดอุตมิงด์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้อาราธนาให้ไปสอนอักษรขอม และจำพรรษาอยู่ที่วัดอุตมิงด์ 1 พรรษา

ท่านได้มีความคิดที่จะขอลาสิกขาจากสมณเพศ เพื่อกลับไปดูแลบิดา มารดา จึงได้ไปหา “พระครูสุวรรณมุนี” หลวงพ่อฉุย พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการลาสิกขา พระอาจารย์จึงได้ทำการสำรวจตรวจดวงชะตาท่านเพื่อดูความเหมาะสม หลังจากพระอาจารย์ตรวจดวงชะตาแล้วเห็นว่าบุญบารมียังสูงส่งจักเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาสืบไป ทำให้ท่านกลับใจคงอยู่ในสมณเพศต่อ และเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนที่ตำบลบางตะบูน ท่านได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน วงศาคณาญาติทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในบวรบพุทธศาสนา ชาวบ้านบางตะบูนทั้งผู้มีทุนทรัพย์ และผู้มีกำลังกายเข้าร่วมกัน ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ราวปลายปี พ.ศ. 2449 ที่ริมฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนมีน้ำท่วมถึงชายป่า ท่านใช้เวลาในการปรับปรุ่งพื้นที่ ถมดิน ถมทราย และก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนวัดปากอ่าว เป็นต้น ท่านใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จึงแล้วเสร็จจนกลายเป็นวัดใหญ่ถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ขนานนามว่า “วัดปากอ่าวบางตะบูน” ตำบลบางตะบูนออกอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2450

วัดปากอ่าวบางตะบูน
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2553ด้วยกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติโดยอเนกประการ ทางคณะสงฆ์มีองค์พระสังฆราชเป็นประมุข ทราบกิตติคุณในคุณานุภาพจึงรับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ดังต่อไปนี้
เมื่อวันศุกร์ ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2467 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระอุปัชฌายะ”
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูแฉ่ง” และเป็นเจ้าคณะสงฆ์แขวงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อวันพุธ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูญาณสาคร”
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ได้รับแต่งตั้งเป็น “สาธารณูปกร” อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน” ตลอดมาจนถึงมรณภาพวันศุกร์ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เวลา 18.07 น. ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา ณ กุฏิเจ้าอาวาส วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ด้วยความสงบ สิริรวมอายุได้ 84 ปี 5 เดือน กับ 25 วัน ท่านถือครองสมณเพศเป็นเวลา 64 พรรษา นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของพุทธศาสนิกชน และชาวบ้านตำบลบางตะบูน บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้ประกอบแต่กรรมดีอยู่เสมอ เมื่อเป็นฆราวาสก็เป็นบุตรที่อยู่ในโอวาทของบิดามารดา เมื่ออยู่ในสมณเพศก็เป็นผู้ที่อยู่ในระเบียบวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด การที่ท่านวางตนได้โดยสม่ำเสมอเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนชาวบ้านบางตะบูนและบริเวณใกล้เคียงเคารพเลื่อมใส และเมื่อท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอันดีงาม และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตลอดมา ทำให้ท่านเป็นที่รักของชาวบ้านเหล่านั้นมาก เมื่อท่านประสงค์สิ่งใดก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาเชื่อถือในตัวท่าน ช่วยกันสละทั้งกำลังกายและทรัพย์สิน ผลงานสำคัญที่ท่านได้กระทำไว้มากมาย และเป็นอนุสรณ์อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

""พระครูพิพิธศุภการ พ่อเหนาะ""



ประวัติ พระครูพิพิธศุภการ (หลวงพ่อเหนาะ วัดป้อม)
พระครูพิพิธศุภการ นามเดิม เสนาะ นามสกุล เจริญพงศ์ ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อเหนาะ เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2465 ท่านเกิดที่บ้านปากทะเล ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โยมบิดาชื่อ นายฉาย เจริญพงศ์ มารดาชื่อ นางผิน เจริญพงศ์ ก่อนบรรพชาอุปสมบทหลวงพ่อท่านเคยรับราชการทหารช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่2 ระหว่าง พ.ศ.2586-2488 ณ ค่ายรามราชนิเวศน์ หลังจากนั้นหลวงพ่ออุปสมบทที่วัดยาง โดยมีพระพิศาลสมณกิจ(พระเทพวงศาจารย์) เจ้าอาวาสวัดยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ผ่าน วัดยาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูรัตนสารวิสุทธิ์(เชื่อม) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายา “กมโล”

พระครูพิพิธศุภการ (เหนาะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้อม แต่เดิมท่านบวชและจำพรรษาอยู่วัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นเลขานุการส่วนตัวของพระเทพวงศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัด แต่เมื่อหลวงพ่ออิ่ม(พระครูสังวรวัชรคุณ) เจ้าอาวาสวัดป้อมขณะนั้น ท่านชราภาพมากไม่สามารถดูแลปกครองพระภิกษุและกิจการต่างๆภายในวัดให้เป็นตามความเรียบร้อยปกติได้ ทางคณะกรรมการวัดและศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะกราบท่านพระครูพิพิธศุภการเดินทางจากวัดยางมาจำพรรษาที่วัดป้อมให้มาดูแลปกครองวัดป้อมแทนโดยเบื้องต้นท่านมารับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดป้อมก่อน เมื่อ พ.ศ.2530 จึงดำรงเป็นเจ้าอาวาสวัดป้อม
และพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสัญญาบัตร “พระครูพิพิธศุภการ”


วัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเป็นที่ยกย่องนับถือ เช่น ออกบิณฑบาตเป็นวัตร ลงทำวัตรเช้า/เย็นมิได้ขาด ทุกวันพฤหัสท่านจะใส่บาตรพระสงฆ์หน้าวัดทุกสัปดาห์ ทำพิธีบูชาครูเป็นประจำทุกปีเพื่อระลึกนึกถึงคุณของครูอาจารย์ของท่าน หากมีเวลาว่างท่านจะทำความสะอาดวัดโดยการกวาดใบไม้ และท่านจะอนุเคราะห์ผู้ที่มาขอใช้พื้นที่ภายในวัดเสมอมา

หลวงพ่อเหนาะ โด่งดังเรื่องการทำน้ำมนต์ ได้มาจากหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ การเจิมรถได้มาจากหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ คาถาเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ได้มาจากหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เจ้าคณะจังหวัด
ปกติญาติโยมที่มาทำบุญ ท่านจึงลุกขึ้นมานั่งแล้วหยิบเอาขันน้ำมนต์มาประพรม พร้อมทั้งสวดกับแขกทุกคนจนหมดขัน แล้วหยิบเอาเหรียญมาแจกคนละเหรียญ

ตอนหัวค่ำของคืนวันที่ 18 สิงหาคม 2553 บรรยากาศบริเวณวัดป้อมดูจะเงียบสงบและวังเวง ดุจสภาวธรรมของเรือนกาย-ใจของท่านพระครูพิพิธศุภการ ขณะชีพจรท่านเต้นช้าลงจนถึงเวลา 23.00น. หลวงพ่อได้ละสังขารโดยสงบ เหลือไว้แต่ผลงานและคุณธรรมอันอุดมฝากไว้เป็นอนุสรณ์ต่อไป

พูดถึงวัตถุมงคลมีมากมายหลายแบบ ทุกอย่างหลวงพ่อจะแจกให้ฟรีๆ ดุจเป็นที่ระลึก ทั้งเหรียญรูปเหมือนท่านและ ผ้ายันต์รุ่นแรกสีขาวผืนเล็กและรุ่นสองสีแดงท่านจะลงยันต์ด้วยตัวเองแต่ช่วงหลังท่านคงไม่มีเวลาพอ จึงใช้ตราปั๊มลงในผืนผ้าสีแดงและสีขาว นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้รับกิจนิมนต์ให้ปลุกเสกวัตถุมงคลตามวัดต่างๆมากมายนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งลูกศิษย์หรือผู้เคารพในวิทยาคมได้นำแผ่นตะกั่วให้ท่านลงเพื่ออธิษฐานจิตทำเป็นตะกรุด
ประสบการณ์ผ้ายันต์สีขาวว่า ฟันกันที่สนามวัวลาน คนถูกฟันล้มลงแล้วลุกขึ้นมาได้ คนฟันวิ่งหนีตกใจ! มันลุกขึ้นมาได้อย่างไร ขนาดใช้มีดปาดตาลฟันด้วย และ เหรียญหลวงพ่อรุ่นแรกก็มีประสบการณ์ มีการยิงกันที่ประตูวัดป้อมนี่แหละ ยิงนัดแรกออก พอยิงนัดที่ 2 อีกคนไม่ออก เพราะพกเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อ

"""หลวงพ่อแถม สีลสังวโร""""



หลวงพ่อแถม เกจิอาจารย์ขลังสืบสายพุทธาคม หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีเกียรติคุณกว้างไกลไร้พรมแดนของเมืองเพชรอีกรูปหนึ่งในขณะนี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในสายมหานิกายที่พูดน้อย ไม่ค่อยถนัดในเรื่องคุย แต่เข้มขลังในอาคม โดยเฉพาะ ตะกรุด ของท่านนั้นถือว่าเป็นมหาอำนาจในทางอยู่ยงคงกระพันเป็นเลิศอีกรูปหนึ่งในยามนี้ ในอดีตคนเพชรถือว่าเป็นคู่แข่งรูปสำคัญกับ หลวงพ่อตัด วัดชายนา เพียงแต่หลวงพ่อตัดนั้นท่านเป็นสายพระธรรมยุติ ส่วน หลวงพ่อแถม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในสายพระมหานิกาย พระอาจารย์ทั้งสองรูปนี้เป็นสหธรรมิกกันมาช้านานไปมาหาสู่กันบ่อยๆ ตะกรุดของท่านนั้นเป็นเลิศในทางคงกระพันชาตรี หนังเหนียวชนิดยิงไม่ออก แทงไม่เข้า ตามที่เขาเล่าลือกันมาจากปากสู่หู

แต่ถ้าใครสอบถามท่านเรื่องนี้ท่านจะกล่าวว่า หารู้ไม่หรอกเป็นเรื่องของเด็กๆ เขาประสบกันมา อาตมาหารู้ไม่ เป็นสำเนียงคนเมืองเพชร ซึ่งวัยรุ่นในย่านบ้านช้างแทงกระจาดเจอะเจอประสบการณ์ดังกล่าวมาหลายราย จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังติดทำเนียบอันดับพระเกจิอาจารย์ดัง พระอาจารย์เข้มขลังเวทมนต์แดนคนดุ เมืองเพชรในปัจจุบัน มิใช่เฉพาะชาวบ้านธรรมดาตาดำๆ แม้แต่เจ้านายชั้นสูงก็เคารพศรัทธาหลวงพ่อแถม

การเดินทางสู่วัดช้างแทงกระจาดให้ใช้เส้นทางบายพาส หรือถนนเส้นนอกที่จะไปหัวหิน เมื่อผ่านสี่แยกหุบกะพงแล้วให้สังเกตทางสี่แยกที่ 3 วัดอยู่ก่อนถึงวัดห้วยมงคล เมื่อขับรถไปถึงสี่แยกบ้านช้างแทงกระจาดอยู่ทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณสักกิโลเศษๆ ก็ถึง จะสังเกตเห็นรูปช้างขนาดเท่าตัวจริงแทงกระจาดติดงายืนอยู่หน้าซุ้มประตูเข้าวัด ให้ขับรถเลี้ยวขวามือเข้าไปจะมีลานจอดรถอยู่ตรงข้ามณฑปบูรพาจารย์ อันประกอบด้วย รูปหล่อหลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร เมื่อเข้ากราบรูปเหมือน หลวงปู่จันทร์ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง ส่วนสองอดีตพระเกจิอาจารย์นามกระเดื่องดัง

กล่าวอาจจะมีผู้มีจิตศรัทธานำมาไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วจึงเข้านมัสการ หลวงพ่อแถม ในลำดับต่อไป การบันทึกประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆ ก่อนจะถึงเรื่องประสบการณ์อภินิหารต่างๆ ต้องมีอัตประวัติเพื่อเป็นแนวทางจะได้รู้ว่าท่านนั้นเป็นใครมาจากไหนนั่นเอง เพื่อยกขึ้นไว้เป็นบุคคลผู้มีบุญญานุภาพ และเป็นที่เคารพกราบไหวของบุคคลโดยทั่วไป ด้วยบุญกุศลที่สร้างมาในภพในชาติต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันชาตินั่นเอง

ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์บุญญานุภาพของท่านที่ปฏิบัติมาโดยตลอด หลวงพ่อแถม ท่านจึงนั่งอยู่ในความศรัทธาของญาติโยมมาตลอด ทั้งจากถิ่นใกล้แดนไกลทั่วราชอาณาจักรแห่งประเทศไทย และมีบุคคลผู้ศรัทธาพระพุทธศาสนาต่างบ้านต่างเมืองยังมากราบนมัสการ การสนทนาคนละสำเนียงบอกถึงเสียงคนละภาษานั้น หากมีผู้รู้คอยอธิบายให้สื่อสารกันรู้ทั้งสอฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากมีคนพูดให้เข้าใจและแปลให้ฟัง ทุกคนร้อง ฮ้อ ด้วยความพึงใจ

ชีวประวัติ

หลวงพ่อแถม นามเดิมท่านคือ ถาวร นามสกุล หนูสิงห์ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2485 บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน ท่านเป็นลูกคนที่ 3 ของครอบครัว นายถม-นางมอม หนูสิงห์

บรรพชา

พ.ศ.2499 อายุ 14 ปี ได้บวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่วัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยมี พระครูขันตยารักษ์ (หลวงพ่อป่อง) เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งหลวงพ่อป่องนั้นในอดีตถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์นามกระฉ่อนที่มีผู้เคารพศรัทธามากรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ได้ศึกษาหนังสือขอมจาก โยมตาพรหม ของท่านและ หลวงพ่อป่อง จนมีความชำนาญสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี บวชอยู่ 3 พรรษา สิ้นวาสนาหมดบารมีในการบวช ขอลาสิกขาบทออกมาช่วยพ่อ-แม่ประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง แต่ว่าท่านเกิดมาเพื่อบำรุงพระศาสนาโดยแท้จึงต้องกลับเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่งและเป็นแบบถาวร มอบกายถวายชีวิตเพื่อปฏิบัติของพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาโดยแท้ จึงกลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง

อภินิหารแห่งพุทธคุณ

หลวงพ่อแถม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เมืองเพชร ที่นั่งในใจของชาวบ้าน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีจริยวัตรอันงดงามสงบเสงี่ยมอยู่ในศีลสังวรเมตตากับญาติโยมทุกคนที่เดินทางไปกราบไหว้ท่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยที่คนเพชรตลอดจนผู้คนทั่วประเทศจะรู้จักท่านแต่ท่านเป็นผู้สมถะ ท่านจึงเป็นเนื้อบุญที่พุทธศาสนิกชนจะหว่านกุศลลงไว้ในทาง พระพุทธศาสนาโดยมีหลวงพ่อแถม ท่านเป็นสะพานบุญที่ทอดรองรับให้บรรดาสัตบุรุษทั้งปวงเดินข้ามสะพานบุญแห่งนี้ไปสู่สรวงสวรรค์ เมื่อชีพลับดับหายไปจากโลกมนุษย์ โดยอาศัยบุญกุศลหรืออาศัยบารมีหลวงพ่อแถมเป็นสื่อต่อเชื่อมระหว่างเมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์ในอนาคตกาล หลวงพ่อแถมท่านเป็นผู้ใฝ่สันโดษคือในทุกปีของเดือน 3 ท่าน จะออกเดินธุดงคเข้าป่าทำจิตให้สงบฝึกสมาธิให้แก่กล้า แม้ในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีป่าแล้วก็ตามท่านก็ยังออกวิเวกทุกปี

ประสบการณ์ในการออกธุดงค์ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านไปปักกลดในป่าแถวน้ำตกป่าละอู นั่งเจริญกรรมฐานจนจิตสงบดีแล้ว รู้สึกว่าจิตมันโล่งโปร่งดีแล้วจึงถอนจิตออกมาและจำวัด จนค่อนฟ้าสางไก่ป่าโก่งคอขันระงมไพร ท่านจึงลุกขึ้นมานั่งพิจารณาหรือทำกรรมฐานอีกจนรุ่งเช้าสวดมนต์ทำวัตรเช้าอุทิศส่วนกุศลที่บังเกิดขึ้น ในการเจริญวิปัสสนา ครั้งนี้ให้เพื่อนร่วมโลก เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนสัมภเวสีที่ล่องลอยอยู่ในป่าเขา เทวดาพระภูมิเจ้าที่ แม่ธรณีเป็นที่ตั้ง

เมื่อกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลเสร็จสรรพจึงออกมาจากกลด ท่านว่าเห็นรอยเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่สามารถกินคนหรือวัวควายตัวใหญ่ๆ ได้สบาย มานั่งเฝ้าท่านข้างกลดห่างกันไม่ถึง 2 วา ท่านเล่าว่าเสือมานั่งอยู่เมื่อไหร่ และเขากลับไปตอนไหนท่านไม่รู้เห็นแต่รอยเท้าที่เป็นรอยเดินและรอยที่เขามานั่งหมอบเฝ้าข้างกลดเท่านั้น จึงพิจารณาพื้นที่ละเอียดอีกครั้ง ท่านเล่าว่าเพราะท่านไปปักกลดขวางทางเสือลงกินน้ำ เขาจึงนั่งเฝ้ากลดทั้งคืน ซึ่งท่านเองก็คิดเหมือนกันว่า ทำไมราตรีนี้จึงเงียบสนิทผิดปกติทั้งราวไพร จักจั่น เรไร สัตว์ป่าจตุบท ทวิบาทเงียบสนิท ไม่มีเสียงหรีดร้องแม้แต่น้อย คงมีแต่ต้นและใบไม้โยกไหวเป็น
ครั้งคราวตามแรงลมที่พัดผ่านมาเท่านั้น ศิษย์หลวงพ่อแถมคนหนึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่ที่อำเภอชะอำ เอากระบุงซ้อนๆ กันไว้ที่ใต้ถุนบ้าน เช้าตรู่วันหนึ่งจะนำกระบุงดังกล่าวออกไปขนข้าวเปลือก จึงรั้งออกมาทีละลูกแต่ว่ามีอยู่ลูกหนึ่งเมื่อใช้มือรั้งออกมา เหมือนมีอะไรพุ่งตรงชนที่แขนขวาอย่างแรง ตามออกมาด้วยน้ำสีเหลืองเหนียวๆ ติดแขนเต็มไปหมด จึงหันตามมองไปกับสิ่งที่เห็นผ่านตาอยู่แวบๆเล่นเอาใจหายวูบ เพราะเป็นงูเห่าที่พุ่งฉกกัดมาที่แขนเมื่อสักกะเดี๋ยวนั้นเอง ลงไปแผ่แม่เบี้ยกำลังลดหัวลงเพื่อจะหนีไป ด้วยความตกใจและประกอบกับในความคิดนั้นว่าที่งูฉกเมื่อสวนออกมาคงจมเขี้ยวเล่นเอาใจเสีย แปลกแต่ว่าเมื่อสำรวจดูแล้วไม่มีรอยกัดของงู มีแต่น้ำพิษที่ติดผิวหนังอยู่จำนวนมาก แต่ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวของศิษย์หลวงพ่อแถมท่านนั้นไม่มีอะไรติดตัวเลย นอกจาก ?สายข้อมือไหม 7 สี เส้นเดียว?

ฉายา หลวงพ่อยางตัน หลวงพ่อแถมท่านเมตตาเล่าต่อผู้เขียนว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเอารถไปขนไม้ที่ทุ่งญวน ถ้าผู้เขียนจำไม่สับสนก็อยู่ห่างจากวัดช้างแทงกระจาดไปประมาณ 8 กิโลเมตร ยางรถเกิดระเบิดขึ้นมาไม้ก็อยู่เต็มรถแล้วหมดหนทางที่แก้ไข จึงบอกคนขับว่าออกรถเถอะ ด้วยเหตุอันใดอย่าไปสนใจเลยเอาเป็นว่าคนขับรถนั้นก็ว่าง่ายออกรถมาจนถึงที่หมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ มีโยมที่ชะอำท่านหนึ่งผู้เขียนลืมชื่อไป หากเจอหลวงพ่อแถมที่ไหน จะเรียกหลวงพ่อยางตันมาแล้ว ติดปากมาตลอด

ถ่ายรูปไม่ติด

มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคณะผู้ศรัทธาพาท่านไปเที่ยวนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว เมื่อไปถึงจังหวัดหนองคายต้องถ่ายรูปทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว มีลูกศิษย์มานิมนต์ท่านไปถ่ายรูปท่านถามว่าถ่ายรูปอะไร ลูกศิษย์บอกว่าถ่ายรูปทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว ท่านพูดเล่นกับศิษย์ท่านว่า ?ระวังจะถ่ายไม่ติดนะ? แล้วท่านเดินตามศิษย์ผู้นั้นไปถ่ายรูปตรงด่านผ่านแดนหนองคาย สักพักหนึ่งลูกศิษย์ท่านมาบอกว่าให้หลวงพ่อแถมไปถ่ายรูปใหม่ เพราะถ่ายไม่ติด ในขณะนั้นท่านรู้สึกปวดหัวและปวดเมื่อยตามตัว จึงขออยู่ในฝั่งไทยรอญาติโยมที่หนองคาย

สำหรับผู้ศรัทธาในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเกจิอาจารย์ ผู้เขียนแนะนำเชื่อว่าท่านจะไม่ผิดหวัง หากว่าท่านผู้อ่านศรัทธาตามบทความที่กล่าวถึง เพชรบุรีจากกรุงเทพฯใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงแล้วเป็นการพิสูจน์ว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นไม่เท่ามือคลำ และด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามต่อญาติโยมทุกคน เชื่อว่าท่านผู้อ่านไปแล้วไม่ไปลับเพียงครั้งเดียว ครั้ง 2-3 จะตามมา เพราะหลวงพ่อแถมท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ควรค่าต่อการกราบไหว้ เพราะท่านเป็นพระปฏิบัติเรียบง่ายอยู่อย่างสมถะ นั่งในห้องของท่านต้อนรับญาติโยม เข้าใจว่าน่าจะจำวัดตรงนั้นที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาด้านหลังที่นั่งของท่านนั่นเอง

(ที่มา : ย่อจาก ลานโพธิ์ ฉบับที่ 1053 เดือนสิงหาคม 2553 : หลวงพ่อถาวร (แถม) สีลสังวโร วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ภาพและเรื่องโดย..เมฆ เมืองชุมพร)